ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติคือ ความมั่นคงทางอาหาร ที่มีอย่างมากมายในพื้นที่ชายแดนใต้ ดัง “ปลากุเลา บ้านตันหยงเปาว์”ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ผลิตไม่ทันความต้องการและเพิ่มมูลค่าด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างงาน สร้างรายได้แก่เครือข่ายประมงและชุมชนได้อย่างน่าภูมิใจ นำไปสู่วิธีการแปรรูปอาหารชั้นเลิศซึ่งถูกจัดว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม”
บ้านตันหยงเปาว์เป็นชุมชนติดทะเล ในจังหวัดปัตตานี มีพื้นที่คล้ายเกาะ หน้าบ้านมีทะเลอ่าวไทยยาวออกไปส่วนด้านหลังมีคลองโอบล้อมหมู่บ้านเอาไว้จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ มีสัตว์น้ำมากมายชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้านบ้านตันหยงเปาว์ จนปี 2532 ถึงปัจจุบัน พวกเขาต้องต่อสู้กับนายทุนที่ทำการประมงแบบผิดกฎหมายอย่างอวนรุนมาตลอด ทรัพยากรทางทะเลถูกทำลายไปเกือบหมด ทำให้ชาวบ้านต้องต่อสู้อย่างจริงจังแบบ “สันติวิธี” จนได้ผลอย่างน่าพอใจ ทะเลฟื้นตัวและมอบความอุดมสมบูรณ์ให้พวกเขาอีกครั้ง ปัจจุบันอวนลากมีปริมาณที่ลดลง ปลาที่หายไป อย่าง “กุเลา” เริ่มกลับมาให้เห็นและพลิกฟื้นความสมบูรณ์ทุกอย่างให้กลับคืนมา
ด้วยระบบนิเวศและวงจรชีวิตของปลากุเลา จะอาศัยอยู่บริเวณปากอ่าวที่มีแพลงตอนคือบริเวณที่น้ำมาบรรจบกันเช่น อ่าวปัตตานี ปากคลองตันหยงเปาว์ คลองบางตาวา มีธาตุอาหารสมบูรณ์บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลอย่างเห็นได้ชัด อาหารของปลากุเลาคือสัตว์น้ำที่กินแพลงตอนเป็นอาหารเช่น ปลาหลังเขียว ปลากระบอก
จากเดิมที่ชาวประมงแห่งบ้านตันหยงเปาว์จับปลาได้ก็นำไปขายเป็นปลาสด ส่งออกไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือจังหวัดนราธิวาส ซึ่งขายได้เพียงกิโลกรัมละ 250 บาท เมื่อมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะวิสาหกิจชุมชน จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาและแปรรูปสินค้าด้วยตนเองเป็นสินค้าโอรังปันตัยหรือชาวเล คือ “ปลากุเลาเค็มกางมุ้ง” รวมกลุ่มเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านจำนวน 52 หมู่บ้านเรือกว่า 2,900 ลำ ชาวประมงกว่า 83,000 คน รองรับการประกอบธุรกิจชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการท้องถิ่นและภาครัฐในการยกระดับสินค้าเพิ่มมูลค่าสร้างมาตรฐานในการผลิต ผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูป โดยยังคงมีเรื่องราวความเป็นมากระบวนการผลิตและแปรรูปที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การได้มาของวัตถุดิบปลากุเลาสดจากท้องทะเลสู่กระบวนการแปรรูป โดยแขวนปลาให้สะเด็ดน้ำ นวดเนื้อปลาเพื่อความนุ่ม ละเอียด เป็นเนื้อเดียว บ่มเพาะทักษะและความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น
นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี บอกว่า ทุกวันนี้ปลากุเลาของบ้านตันหยงเปาว์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแม้ว่ามีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500-1,700 บาท ตัวละ 1-2 กิโลกรัม ทางสมาคมชาวประมงฯ บ้านตันหยงเปาว์ ยังเป็นที่รับซื้ออาหารทะเลสดจากกลุ่มสมาชิกประมงเพื่อไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เมื่อมีปลาสดมาส่งต้องดูว่าใครเอามาขาย มีวิธีการจับอย่างไร เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่แท้จริง ฝึกการบันทึกข้อมูล สมาชิกจะเข้าใจตรงกันว่า หากปลามาจากการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ทางสมาคมฯ จะไม่รับซื้อ
“ปลากุเลาที่นี่เนื้อแน่น สมบูรณ์มาก เป็นทุนของชุมชน ชาวบ้านใช้กุเลาเป็นสื่อบอกเรื่องราวไปสู่ผู้บริโภคว่า กินกุเลาตัวหนึ่ง ได้บริจาคส่วนหนึ่งมาช่วยพี่น้องเราในการอนุรักษ์ทรัพยากร เราให้ความสำคัญกับการไม่ใช้สารเคมีและสารฟอกสี ใช้เกลือหวานปัตตานีเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งฮาลาลด้วยตัวเอง ต้องดูแลเหมือนลูก นวดทุกวันให้เข้าที่ เอาออกผึ่งแดด เอามาผึ่งลม ใช้ทั้งสองส่วนผสมกัน กางมุ้งให้ ปลากุเลาตัวเล็กใช้เวลาประมาณ 25 วัน ตัวใหญ่ 45 วันรับประกันได้ว่าเป็นปลาอินทรีย์ที่สะอาด ปราศจากสีและสิ่งปลอมปน”
ขณะนี้ทางสมาคมประมงพื้นบ้านได้ขอเครื่องหมายรับรองฮาลาล อยู่ในช่วงรอเลขหมาย กุเลา คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความอุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ที่มั่นคง และสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในท้องถิ่นได้อย่างสมดุลจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ คือสันติภาพที่ยั่งยืนและเป็นจริงอีกปีกหนึ่งในพื้นที่แห่งนี้
ข่าวจาก เลขา เกลี้ยงเกลา http://www.fatonionline.com/6961
ภาพจาก: สถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี