“ภาษีลาภลอย” ของร้อนนอนมา สิงหาฯ เอาแน่? แบบไหนยังไงขอชัดๆ ก่อนเลย

 

Advertisement

ก็ทำท่าว่าอาจจะใช่ หลัง “นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาร่ำๆ ว่า เรื่องราวของภาษีลาภลอย จะมีการสรุปกับโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ในเดือนสิงหาคมอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้

และก็สั้นๆ ง่ายๆ สไตล์ชาวเน็ตแบบไม่ยืดเยื้อ ภาษีลาภลอยที่ว่า จะจัดเก็บ จากผู้ได้ประโยชน์จากการลงทุนของรัฐ ด้านคมนาคมเป็นหลัก เช่น เมื่อรถไฟฟ้าผ่าน แล้วราคาที่ดินใกล้ๆ แนวรถไฟฟ้านั้นขึ้น นั่นแหละอาจเข้าข่ายของภาษีลาภลอย

แต่แน่นอนว่า นี่เป็นแค่ตัวอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้ว “ภาษีลาภลอย” หมายความรวมไปถึงเรื่องราวการลงทุนที่มากกว่าแค่ รถไฟฟ้า เพราะทั้งท่าเรือ สนามบิน ทางด่วน ทั้งหมดก็เป็นการลงทุนของรัฐทั้งสิ้น เมื่อเคาะมา ที่ดินรอบรัศมี ก็จะต้องโดนภาษีลาภลอย

ที่นี้จะเริ่มต้นกันแบบไหน กำหนดกันยังไง อัตราเท่าไหร่ฯ คำถามแบบนี้ตามมาอีกเพียบ เอาง่ายๆ ว่า เท่าที่ฟังเสียงจาก ผอ.สศค. ก็อาจจะเริ่มต้นกันที่ 5% ที่เป็นเพดานจัดเก็บ หมายความง่ายๆ ว่า 5% นั้นคือ “สูงสุด” แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จะต้องถูกเก็บ 5% เสมอไป

มันก็อาจจะต่ำกว่านั้นได้ ตรงนี้แหละที่ต้องมาเคาะกันว่าใครจะเสียยังไงแบบไหน?

            เอาว่าจากความสงสัยแรกก่อน 5 % ที่เป็นเพดานการเก็บ กับแนวทางการเก็บ ที่เน้นธุรกิจในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป และกำหนดแนวรัศมีไว้ กรอบ 5 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้ คงจะเป็นสิ่งที่ต้องไปเสิร์ฟบนโต๊ะประชุมของหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปกันในเดือนสิงหาคมนี้ ว่าจะเอายังไง ฉะนั้นเรื่องของภาษีลาภลอยก็มีกรอบออกมาด้วยประการฉะนี้

บนความเข้าใจที่ตรงกัน ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือธุรกิจเชิงพาณิชย์รายใหญ่ๆ โดยเฉพาะโครงการอสังหาฯ ทั้งบ้านและคอนโดฯ สารพัด ที่ได้ประโยชน์จาก “ราคาที่ดิน” ที่พุ่งขึ้น ตามความเจริญที่มาจากการลงทุนของรัฐ

พอฟังเรื่องของราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น หลายคนก็ตกใจ ลามไปจนถึงกับ “วิตกกังวล” เพราะทำเลทองหลายแห่งตามแนวรถไฟฟ้า หลายสาย ทั้งที่เสร็จแล้ว และกำลังก่อสร้าง ราคาที่ดินก็พุ่งพรวดกันไปเป็นเท่าตัวสองเท่าตัวกันเลยทีเดียว

อ่า…แล้วแบบนี้ไม่เสียภาษีกันจนอาเจียน จนอุจจาระปัสสาวะร่วงกราวระนาวเลยหรือ?

            ก็ตรงนี้แหละที่เป็นคำถามสำคัญ ที่ สศค.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรออกมาแจงให้เห็นภาพก่อน ที่จะไปเคาะกันบนโต๊ะประชุม ว่า จะจัดเก็บแบบไหร? คิดจากอะไร?

ด้วยข้อกังขา ที่ว่า จะจัดเก็บภาษีลาภลอย เฉพาะตอนที่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์? กันจริงหรือเปล่า? ไม่ได้เป็นการจัดเก็บแบบรายปีเหมือนภาษีโรงเรือน

และควรจะต้องตอบทำความเข้าใจด้วยว่า การจัดเก็บนั้น จะไปคำนวน เพดาน 5% กันที่ราคาอะไร ราคาซื้อขาย? หรือ ราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์? เพื่อป้องกันความสับสน และทำให้ภาคธุรกิจ มีความชัดเจนในการประเมินต้นทุน และประเมินแนวทางการลงทุน

เพราะก่อนจะเข้าโต๊ะประชุม เรื่องแบบนี้ก็ควรจะมีแนวทางคร่าวๆ แล้ว เพื่อป้องกันความสับสน และ วิตกกังวล !

และเรื่องนี้ก็จะออกมาเป็นตัวบทกฏหมายเป็น ร่างพรบ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ เพื่อนำเข้าสู่สภาสนช.เพื่อพิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฏหมาย ที่นี่เมื่อเป็นกฏหมาย ประชาชนทุกคนก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตาม

ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อต้องปฏิบัติตาม ทางภาครัฐ ที่เข็นกฏหมายนี้ออกมา ก็ควรจะชัดเจนซะก่อน อย่างน้อยก็ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาทำความเข้าใจให้ตรงกันอีกที เมื่อภาษีลาภลอยออกมาเป็นกฏหมายแล้ว

เรื่องที่จะต้องเสียภาษี น่าจะทะเลาะกันให้เสร็จก่อนที่จะทำ ไม่ใช่รอให้ไปทำมาแล้วค่อยทะเลาะ เพราะอาจเรื่องยาวไม่จบง่ายๆ กลายเป็น “มหากาพย์” ไปซะอีก โดยเฉพาะเรื่อง “สองมาตรฐาน” ที่ชาวบ้านยิ่งพูดกันเยอะๆ อยู่ ซึ่งถ้าส่องไปตามแนวการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า มีทั้งรายเล็กรายใหญ่รายย่อย

เรื่องนี้ชัดเจนไปในทุกคำตอบก่อนเลยไม่ดีกว่าเหรอ?

 

บทความ โดย ภาคินสัน