สวัสดีปีใหม่ครับนักอ่านชาวสยามบิสซิเนสทุกท่าน ปีใหม่แล้วก็ขอให้มีสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตนะครับ และการจะมีสิ่งดีๆเข้ามาได้ เราก็ต้องเลื่อกที่จะทำสิ่งดีๆก่อน เป็นที่ทราบกันดีทั่วโลกว่าวันปีใหม่ของทุกปีจะตรงกับวันที่ 1 มกราคมตามปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้กันทั่วโลกปัจจุบัน แต่ทราบไหมครับว่าในโลกยุคโบราณเราไม่ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันปีใหม่หรอก..
กล่าวกันว่าในความเชื่อในปฏิทินของชาวโรมันโบราณถือกันว่าใน 1ปีมีเพียง 10 เดือนหรือ 304 วันเท่านั้นเองโดยนับปีใหม่จากวันวสันตวิษุวัต หรือวันที่กลางวันและกลางคืนมีเวลายาวนานเท่ากันในเดือนมีนาคมต่อมา อ้าวแล้วมันหายไปไหนตั้ง 2เดือน จริงๆก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก แต่ฤดูหนามมันโหดร้าย เขาเลยเริ่มเดือนแรกที่มีนาคมสิ้นสุดในเดือนธันวาคม เพราะไม่อยากนับฤดูหนาวเหน็บเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในปฏิทินนั่นเอง แม้ตอนนี้ปฏิทินฉบับดังกล่าวจะเลิกใช้ไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีร่องรอยเหลือไว้ให้ระลึกถึงอยู่เช่นกัน และเป็นสิ่งรับประกันว่าทฤษฎีนี้เป็นไปได้ กล่าวคือ December เดือนธันวาคมซึ่งเป็นเดือนที่สิบ ตรงกับภาษาละตินว่า “decem” เช่นเดียวกับ September ที่เป็นชื่อของเจ็ด “septem”
นอกจากนี้ตามปฏิทินโรมันช่วงกึ่งกลางของทุกเดือนจะรู้จักกันในนาม Ides และ Ides ของเดือนมีนาคมก็ตรงกับวันที่ 15 มีความสัมพันธ์กับพระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของปี (ไม่นับฤดูหนาวตามปฏิทินโรมัน) ซึ่งมีความเชื่อว่าในวันนี้ถือเป็นวันไม่ดี ไม่เหมาะกับการประชุมใดหรือทำกิจใดๆ เหมือนดังจูเลียต ซีซ่าร์ที่เสียชีวิตในวันนี้ ปีที่ 44 ก่อนคริสตศักราช เพราะไม่เชื่อคำทำนายว่าห้ามออกจากบ้าน
ในวันเริ่มต้นเดือนมีนาคมมักเรียกขานกันว่า “March comes in like a lion, out like a lamb” หมายถึงมีนาคมเข้ามาด้วยความหนาวเหน็บ แต่เมื่อปลายเดือนก็จากไปอย่างอบอุ่นนั่นเอง
ภายหลังจากนั้นเวลาสืบเนื่องมาจนถึงเมื่อ 800 ปีก่อนคริสตกาลในยุคสมัยของ “กษัตริย์นูมาปอมปิเลียส” ได้เพิ่มเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ขึ้นมา ก่อนที่ในสมัยจักรพรรดิจูเลียสซีซาร์ (46 ปีก่อนคริสตกาล)ได้รวบรวมนักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์มาร่วมกำหนดวันเวลาแต่ละเดือนใหม่อีกครั้งกำเนิดเป็น “ปฏิทินจูเลียน ” ซึ่งถือว่าเป็นปฏิทินที่ใกล้เคียงกับระบบปฏิทินปัจจุบันมากที่สุด

ในปฏิทินจูเลียนกำหนดวันที่ 1 มกราคมเป็นวันแรกของปีจากการที่เดือนมกราคม (January) มาจากชื่อของเทพเจนัส (Janus) เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลงโดยจัดให้มีการบูชายัญเทพเจนัสและของขวัญแก่กันและกันตกแต่งบ้านเรือนด้วยพวงมาลัยและเข้าร่วมงานเลี้ยงเป็นจุดเริ่มต้นของวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคมเป็นต้นมา
สำหรับปีใหม่แบบไทยๆล่ะ?..หลายคนอาจเข้าใจว่าวันที่ 13 เมษายน หรือวันสงกรานต์ที่เราเรียกว่าปีใหม่ไทยเป็นวันขึ้นปีใหม่แต่แท้จริงแล้วอาจจะไม่ค่อยมีใครทราบนักว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ของไทย แต่ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีไทยมีการเปลี่ยนวันปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมเพื่อให้เป็นสากลดังเช่นนานาประเทศ โดยเริ่มนับวันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่เมื่อ ปีพ. ศ. 2480 มาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 83 ปีแล้ว