สายเขียวเตรียมพร้อม! รัฐมนตรีสาธารณสุข ย้ำ 2-3 เดือนมีลุ้นปลดแอกปลูกกัญชาทางการแพทย์ วอน กฤษฎีกา หนุนร่างกฎกระทรวง ส่วนใครจะปลูกได้บ้างลองไปดูรายละเอียด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย เพจ “อนุทิน ชาญวีรกูล” เกี่ยวกับความคืบหน้า การปลดแอกปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยสรุปว่า “ขอรายงานการปฏิบัติงาน นโยบายกัญชาทางการแพทย์ กันอีกครั้งว่า จะได้ปลูกจริงหรือไม่6 ต้น เมื่อไร? จะได้ปลูก มากกว่า 6 ต้น จะปลูกได้ไหม? ปลูกได้เมื่อไร?
เรื่องนี้ได้ลงนามในร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตผลิตกัญชาทางการแพทย์ เสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วหากว่าไม่มีอะไรติดขัด ภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ไป น่าจะมีกฎกระทรวงออกมา เป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชาทางการแพทย์ ปฏิบัติได้
สำหรับ สาระสำคัญ 2 ประการ ที่บรรจุไว้ในร่างกฎกระทรวง ฉบับนี้ ก็คือ 1. แพทย์แผนไทย และ หมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชา เพื่อปรุงยา รักษาผู้ป่วย ได้ (ในร่างกฎกกระทรวงฉบับเดิม อนุญาตให้ปรุงยาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ปลูก) และ 2. ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร สามารถปลูกกัญชา ได้(ร่างกฎกระทรวงเดิม ไม่อนุญาตให้เกษตรกรปลูก แต่ร่างฉบับใหม่ ให้สิทธิเกษตรกร เป็นรายบุคคล ปลูก โดยไม่ต้องจับกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนก็ได้) ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องปลูกกี่ต้น จะปลูก 6 ต้น หรือ มากกว่า 6 ต้น ก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และความเหมาะสมของแต่ละราย ที่ขออนุญาตปลูก
แต่เนื่องจาก กฎหมายแม่ คือ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 (ซึ่งประกาศใช้ก่อนที่ผมจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) กำหนดไว้ว่าภายใน 5 ปีแรก คือ ปี 2562-2566 ใครจะปลูกกัญชา ต้องปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เท่านั้น ดังนั้น ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้นี้ เกษตรกร ที่อยากปลูกกัญชา ต้องจับคู่กับหน่วยงานของรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนเมื่อพ้นจาก 5 ปี ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จะปลูกกับหน่วยงานของรัฐต่อไป หรือจะปลูกเอง ไม่จับคู่กับหน่วยงานของรัฐ ก็ได้
เพื่อจะให้ประชาชน และเกษตรกร สามารถปลูกกัญชา เพื่อเป็นวัตถุดิบทางการแพทย์ ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้จึงได้ใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอร่างกฎกระทรวงให้สิทธิ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และ เกษตรกร สามารถปลูกกัญชาได้ ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประสงค์จะใช้กัญชาทางการแพทย์ นอกเหนือจากในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแม้จะมีข้อจำกัด และเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สะดวกอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำได้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขอความกรุณาคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาสนับสนุน ร่างกฎกระทรวง ที่นำเสนอ ฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และผู้ป่วย ที่รอคอย ด้วย” รมว.สธ.เผยแพร่ในเพจ