น้ำเหนือมาแล้ว! “เซินกา”แรงจริง กรมชลฯ ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยารับมือ

ภาพจากแฟ้ม

ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง –อยุธยา เตรียมพร้อม ริมตลิ่งขนของขึ้นที่สูง หลังพายุโซนร้อน “เซินกา” อาละวาดแล้ว กรมชลประทานพร่องน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมพื้นที่รองรับน้ำเหนือ เนื่องจากจากฝนตกหนักรมว.เกษตรฯ สั่ง  ย้ำทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย จับตาอย่างใกล้ชิด

Advertisement
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ พร้อมกับเข้าไปบรรเทาทุกข์และลดความเดือดร้อนให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ให้เตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือกับพายุโซนร้อน “เซินกา” กรมชลประทาน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานและระบบป้องกันน้ำท่วม ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบระบบชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลาอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ได้มีการติดตั้งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้แล้วทุกจุด พร้อมกับทำหนังสือแจ้งสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง นั้น ได้ให้ทุกโครงการชลประทานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอ่างฯที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก ให้บริหารจัดการน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (Rule curve) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ(Inflow) มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (water shade area) ที่เมื่อฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเฝ้าระวัง ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์เป็นพิเศษ

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น ได้เตรียมการพร่องน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไว้แล้ว ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้ใช้ระบบชลประทานทั้งสองฝั่ง รับน้ำเข้าไปตามศักยภาพที่รับได้ พร้อมกันนี้ ได้ทยอยระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนลดลง ซึ่งหากมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เนื่องจากฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินกา” ก็จะทำให้เขื่อนเจ้าพระยาสามารถชะลอน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนได้ โดยอาจจะต้องทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น แต่จะควบคุมไม่ให้เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อนบริเวณจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่จะส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งได้ เขื่อนเจ้าพระยาจะต้องมีปริมาณน้ำไหลผ่านมากถึง 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปัจจุบัน(25 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,197 ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 1,394 ลบ.ม./วินาที วันที่ 17 ก.ค 60) ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +15.50 ม.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) มีการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในปริมาณ 265 ลบ.ม./วินาที

ภาพจากแฟ้มข่าว