จับตาหนี้ครัวเรือนสูง! IMF เตือนไทยระวังอย่าเน้นเปย์แหลกแจกเงินเพลิน!

ประเทศไทยยังต้องเผชิญปัจจัยท้าทายอีกหลายเรื่อง ทั้งในและต่างประเทศ IMF ส่งสัญญาณ อย่าเน้นเป็นสายเปย์แจกเงินอย่างเดียว ควรให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง พร้อมประเมินเศรษฐกิจโลกปีนี้โตหดเหลือ 3%

Advertisement

เสียงเตือนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เกี่ยวกับการเติบโตเศรษฐกิจ และปัจจัยท้าทาย ดังแว่วๆ มาจากเวที  “Joint BOT-IMF High level Conference” ซึ่งเป็นการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ IMF

โดย นางคริสตาลีนา กอร์เกียว่า(Kristalina Georgieva)กรรมการผู้จัดการ IMF ออกมากล่าวเตือนประเทศไทยโดยสรุปว่า “ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เป็นตัวเร่งให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนก่อให้เกิดเป็นข้อจำกัดต่อขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน

ขณะที่ ปัจจัยภายในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน หนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคต่างๆ และความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นางคริสตาลีนา กอร์เกียว่า กรรมการผู้จัดการ IMF

ซึ่งไทยยังโชคดีที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังมีความเข้มแข็ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ถือเป็นกันชนที่ดี อีกทั้งยังมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อรับมือกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกได้ แต่ต้องเก็บไว้ใช้รองรับสถานการณ์ข้างหน้าที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ด้วย โดยการเลือกใช้หรือการออกแบบนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช่การให้เงินเพียงอย่างเดียว ต้องมีกลไกมารองรับ และควรคำนึงถึงการยกระดับภาคผลิตของประเทศ เป็นการใช้ความสามารถด้านการคลังเพื่อประโยชน์ในระยะยาวด้วย

กรรมการผู้จัดการ IMF ระหว่างเข้าพบ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังของไทย

นอกจากนี้ IMF ยังประเมินภาพรวมของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และผลกระทบต่างๆ ที่ได้รับ โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และ จีน โดยระบุว่า “สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ความเสียหายจากสงครามการค้าก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยIMFได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.8% มาเหลือที่ 3% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 3.4% ส่วนเศรษฐกิจในอาเซียนคาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 4.6% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 5% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 4.8%

สำหรับประเทศไทยอยู่ในภาวะภาคอุตสาหกรรมชะลอลง การลงทุนก็ชะลอลง แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงสูงอยู่ แต่จะเป็นการดีหากประเทศไทยจะอัดฉีดมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ช่องว่างด้านนโยบายการคลัง แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนที่มีประสิทธิผลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ