“สรรเสริญ” ชี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน เฟืองทุกตัวต้องหมุนพร้อมกัน ชูยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ยุคจุรินทร์ เน้นเร่งรายได้จากล่างขึ้นบน บนลงล่าง และแสวงหาจากอนาคต มั่นใจรัฐบาลพาเศรษฐกิจไทยพ้นภาวะถดถอยสู่ความก้าวหน้า
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บรรยายในงานสัมมนา “เดอะเน็กซ์ไทยแลนด์ 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” จัดโดย ธนาคารกรุงไทย และ ibusiness.co เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดย ดร.สรรเสริญกล่าวว่า ที่เรามาสัมมนาในวันนี้เพราะห่วงในภาวะเศรษฐกิจ อยากรู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร และจะตั้งรับอย่างไร ปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ทุกท่านทราบดีว่ามาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก หลายสำนักปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2562 ลงมาโดยลำดับ จากเดิมคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3.8% ปรับลงมาสู่ 3.3% เวลานี้ บางสำนักคาดการณ์เหลือ 2.8%
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ความไม่แน่นอนของเบร็กซิท ที่สร้างผลกระทบเศรษฐกิจภาพรวมในขณะนี้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพด้วยการให้ฟันเฟืองทุกตัวต้องหมุนไปพร้อมกัน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำงานประสานกันอย่างจริงจัง เพื่อให้รายได้ของประชาชนมากขึ้น อันจะทำให้มีเงินซื้อสินค้าที่ภาคธุรกิจผลิตได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการซื้อวัตถุดิบ การจ้างงาน และการขยายกิจการสูงขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลงานเศรษฐกิจหลายมิติ เช่น ราคาสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ภาคส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาธุรกิจยุคใหม่
ด้วยกรอบภารกิจดังกล่าว นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยพร้อมเพรียงกัน โดยกำหนดแนวทางหลักไว้ 3 ประการคือ หนึ่ง สร้างรายได้จากฐานรากหรือจากล่างขึ้นบน สอง สร้างรายได้จากบนลงล่าง และสาม การมองไปที่อนาคต
ดร.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า หนึ่งในกลไกสำคัญของการสร้างรายได้จากฐานรากที่กระทรวงพาณิชย์กำลังขับเคลื่อนอยู่เวลานี้คือ นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ยางพารา น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลักการของการประกันราคาสินค้าเกษตรคือ ต้นทุนทั้งหมดรวมกำไรที่เกษตรกรพึงได้หักด้วยราคาตลาด มีส่วนต่างเท่าไหร่นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคารับประกัน
โดยการประกันราคาข้าวเปลือกล็อตแรกจะถึงมือเกษตรกร ในวันที่ 15 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ เฉพาะในส่วนประกันราคาข้าวเปลือก มีชาวนาเข้าร่วมโครงการ 3.9 ล้านครัวเรือน คิดเป็นประชากรที่ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น 11.48 ล้านคน ส่วนปาล์มน้ำมัน เงินประกันล็อตแรกจะถึงมือเกษตรกรในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีพี่น้องเกษตรกรรับประโยชน์ 3 แสนครัวเรือน ยางพารา เงินประกันล็อตแรกออก 15 ตุลาคม นี้เช่นกัน มีเกษตรกรรับประโยชน์ 1.1 ล้านครัวเรือน ส่วนมันสำปะหลัง และข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดเกณฑ์ในการรับประกัน
ดร.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการประกันราคาพืชผล 3 ตัวแรก คือ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีเกษตรกรรับประโยชน์ 5.3 ล้านครัวเรือน หรือราว 19 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรไทยทั้งประเทศ 70 ล้านคน เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์คือ ยกระดับเกษตรกรฐานรากให้ขึ้นมา จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินรายได้เกษตรกรจะเพิ่มได้แค่ 3.8% ในปีนี้ หากรวมนโยบาย 2 พืชหลักที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ตนประเมินว่ารายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มได้ถึง 4%
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีนโยบายพลิกฟื้นโชห่วยที่มีมากกว่า 4 แสนราย ให้เป็นสมาร์ทโชห่วย โดยจะสนับสนุนเรื่องรูปลักษณ์ การจัดวางสินค้า โปรแกรมบัญชี ฯลฯ และจะนำสินค้าโอท็อปที่มีอยู่ทั่วประเทศกระจายผ่านโชห่วย ซึ่งตรงกับนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการให้โชห่วยอยู่ได้
นโยบายลำดับสอง ที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการคือ ทำจากบนลงล่าง โดยเร่งรัดส่งออกด้วยยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ ขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ และฟื้นตลาดเก่า ซึ่งได้จัดประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดให้ทูตพาณิชย์ต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนของประเทศ และต้องค้นหาให้ได้ว่า ประเทศที่ตัวเองไปประจำอยู่นั้น จะขายสินค้าอะไรได้ ขายให้ใคร และใช้วิธีอย่างไร
ดร.สรรเสริญได้ยกตัวอย่างกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ทำเป็นตัวอย่างไว้แล้วด้วยการนำคณะผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชนเดินทางไปประเทศจีน และสามารถทำสัญญาขายมันสำปะหลังจำนวน 2.68 ล้านตันมูลค่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท รูปแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นกับสินค้าอื่นและหลายประเทศ นอกจากนี้ การขยายตลาดส่งออกชายแดนและการค้าแบบผ่านชายแดนก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์พยายามขยายตลาดเพิ่มขึ้นโดยจะขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ขั้นตอนการส่งออกคล่องตัวมากที่สุด
สำหรับส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกที่ทำในระดับนโยบายคือการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องใหญ่สุดคือ เขตการค้าเสรีอาร์เซ็ป มีอาเซียน 10 ประเทศและรวมจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้ามาเพิ่มอีกเป็น 16 ประเทศ หากเจรจาได้สำเร็จจะทำให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลกด้วยประชากรรวมสูงถึง 3,500 ล้านคน
นอกจากนี้ยังเร่งเจรจาเขตการค้าอื่นที่ค้างท่ออยู่ เช่น เขตการค้าอียู ศรีลังกา ตรุกี ศรีลังกา ปากีสถาน
สำหรับนโยบายกลุ่มที่สาม คือ ภาคธุรกิจต้องก้าวไปให้ทันกับเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น ไบโออีโคโนมี (เศรษฐกิจชีวภาพ) กรีนอีโคโนมี (เศรษฐกิจสีเขียว) แชรริ่งอีโคโนมี (เศรษฐกิจแบ่งปัน) ครีเอทีฟอีโคโนมี (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) โดยจะเร่งให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้น พร้อมเร่งผลักดันสินค้าท้องถิ่นที่มีแหล่งกำเนิดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือของสินค้าให้สูงขึ้นได้ เช่น ไข่เค็มไชยา มะขามหวานเพชรบูรณ์ ฯลฯ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ให้การบ้านพาณิชย์จังหวัดเร่งเสาะหาสินค้าในแต่ละจังหวัดมาจดทะเบียน โดยจัดรถเคลื่อนที่ไปให้บริการจดทะเบียนถึงที่
ดร.สรรเสริญ กล่าวในตอนท้ายว่า ตนเองมั่นใจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรวมถึงรัฐมนตรีทุกท่าน ประเทศไทยจะผ่านเศรษฐกิจถดถอยไปได้และจะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าต่อไปได้แน่นอน