“เซินกา”พายุโซนร้อน มาแล้ว กรมชลฯ เผยรมว.เกษตรฯ สั่งเตรียมพร้อม

กรมชลประทาน ย้ำทุกโครงการชลประทาน พร้อมรับมือพายุโซนร้อน “เซินกา” เคลื่อนเข้าไทยตอนบน 26 ก.ค. นี้ สั่งทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย จับตาอย่างใกล้ชิด

Advertisement

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ พร้อมกับเข้าไปบรรเทาทุกข์และลดความเดือดร้อนให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วม ให้เตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่ากรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาวะอากาศเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ ( 24 ก.ค. 60) พายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 500 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 17.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.3 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 35 นอต หรือ 65 กม./ชม. ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า พายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ โดยจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 และจะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(24 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,394 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 10,229 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 30,800 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,235 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 3,376 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 5,539 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 12,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม  น้ำสูงสุด (upper rule curve) 11 แห่ง คือ กิ่วลม , กิ่วคอหมา , แควน้อยบำรุงแดน , น้ำอูน , น้ำพุง , อุบลรัตน์ , ลำพระเพลิง , สิรินธร , ป่าสักชลสิทธิ์ , ทับเสลา และกระเสียว

กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำต่างๆที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก บริหารจัดการน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (Rule curve) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ(Inflow) มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมไปถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (water shade area) ที่เมื่อฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเฝ้าระวัง ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์เป็นพิเศษ

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันนี้(24 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,144ลบ.ม./วินาที (สูงสุด 1,394 ลบ.ม./วินาที วันที่ 17 ก.ค 60) ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +15.50 ม.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) มีการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกในปริมาณ 242 ลบ.ม./วินาที เพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดจากฝนตกชุกในระยะต่อไป

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝนตกหนัก จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินกา” นั้น กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมขังเดิม จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน“ตาลัส” ให้จับตาเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยให้คงเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา หากพื้นที่ใดมีแนวโน้มที่จะเกิดสภาวะวิกฤติ ให้รีบดำเนินการชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำการแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที สำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ สามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC)กรมชลประทาน โทร.สายด่วน 1460