ส่งออกโคม่า!ไทยเทคโนโลยีล้าหลัง! ก.พาณิชย์เตรียมแผนรับมือระยะยาว

ส่งออก

อาการน่าเป็นห่วง? สถานการณ์ส่งออกไทยลดลงต่อเนื่องท ก.พาณิชย์เผยประเทศคู่ค้าเมินเหตุสินค้าไทยไร้เทคโนโลยี รวมถึงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะตัว –สงครามการค้า

Advertisement

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. แถลงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ในเรื่องของการค้าและการส่งออก โดยระบุว่า การค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือน เม.ย. 2562 และการส่งออก มีมูลค่า 18,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,013 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.7% ส่งผลให้การค้าขาดดุล 1,457 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 4 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 80,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.9% ส่วน การนำเข้ามีมูลค่า 79,973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.1% และการค้าเกินดุล 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.

สำหรับสาเหตุที่การส่งออกลดลงต่อเนื่อง อาจเกิดมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้กระทบกำลังซื้อทั่วโลกอย่างชัดเจน และยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมลดลงมาก ส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจาก เทคโนโลยีของไทยล้าสมัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระยะยาว หากไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิต เช่น สินค้าในกลุ่มรถยนต์ ไทยยังผลิตรูปแบบเดิม ในขณะที่ประเทศผู้ซื้อหันไปนำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในบางประเทศ ได้แก่ สหรัฐ เวียดนาม กัมพูชา และอินเดียอันเป็นผลจากรายสินค้าสำคัญในแต่ละตลาด ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 0.1% อันเป็นผลจากการการส่งออกไปสหรัฐ ขยายตัว 4.7% ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.02%

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าหลายกลุ่มที่ส่งออกเพิ่ม เช่น กลุ่มอาหาร ทั้งอาหารทะเล และผลไม้สด โดยเฉพาะมังคุด แม้จะไม่ได้ส่งออกมากเท่ากับทุเรียน แต่พบว่า มีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ามองว่ากลยุทธ์ที่ไทยจะใช้รับมือสงครามการค้าจะต้องเน้น 2 S ได้แก่ Speed & Strategy กล่าวคือ ต้องแสวงหาโอกาสจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงจากสงครามการค้า ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาตลาดเดิมเอาไว้ให้ได้

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 โดยเน้นการขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มขยายตัวได้สูง อาทิ สหรัฐ อินเดีย และ CLMV และให้ความสำคัญและเร่งส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เช่น สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ผลไม้หลายชนิด เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

รวมทั้ง การขยายการส่งออกในตลาดใหม่ เช่น ตลาดแอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก การทำแผนบุกตลาดและลงรายละเอียดสินค้าในเชิงลึกในตลาดเดิม พร้อมขยายช่องทางการขายบนตลาดออนไลน์ บนเว็บไซต์ Thaitrade.com และการเชื่อมต่อ e-Marketplace ชั้นนำ การรวบรวมข้อมูลอุปสรรคทางการค้า (non-tariff measures) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาทางการค้า การสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับคู่ค้าศักยภาพ (Strategic Partnership) และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (International Business Network) เพื่อกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาตลาดใดเพียงแห่งเดียว เป็นต้น