พ่อเมืองพัทลุงประกาศขับเคลื่อนพัทลุงเมืองเกษตกรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืน พร้อมลงนามในบันทึกความร่วมมือกับสมาพันธ์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สภาเกษตกรกรพัทลุง ม.ทักษิณ โดยมีนักวิชาการจากต่างชาติร่ามเป็นสักขีพยาน ด้านปธ.สมาพันธ์เผยถึงเวลาปลดแอกชาวนาพ้นจากกลุ่มทุนเคมีภัณฑ์ พร้อมนำเทคโนโลยีชีวภัณฑ์ทดแทนเคมี ตั้งเป้ากว่าหมื่นไร่พัทลุงเป็นพื้นที่เพาะปลูกอินทรีย์ในปี 2564
สภาเกษตกรจังหวัดพัทลุง จัดประชุมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ รร.ลำปำรีสอร์ท ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง โดยนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธาน ซึ่งการลงนาม MOU ดังกล่าวเป็นความตกลงระหว่างพล.อ.ณพล คชแก้ว ประธานสมาพันธ์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนานาชาติ (สนนช.) รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และนายสมคิด สงเนียม ประธานสภาเกษตกรจังหวัดพัทลุง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการผู้เชียวชาญจากต่างประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน
พล.อ.ณพล กล่าวปฐกถาพิเศษ มีความตอนหนึ่งว่า ชีวิตตนเติบโตมาจากครอบครัวทำเกษตรกรรม ไม่ได้ร่ำรวยอะไร และสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 14 รุ่นเดียวกับพล.อ.อุดมเดช สีตระบุตร อดีตผบ.ทบ.และอดีตรมช.กลาโหมมีโอกาสมาจ.พัทลุงหลายครั้ง ซึ่งมีความประทับใจกับจ.พัทลุง โดยเฉพาะผู้ว่าฯพัทลุงได้ประกาศเป็นนโยบายเมืองเกษตกรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืน ซึ่งตนและคณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบของจังหวัดอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้
ปัจจุบันเกษตรกรไทยตกเป็นเบี้ยล่างของกลุ่มทุนผู้ค้าปุ๋ยเคมีภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ สุขภาพความปลอดภัยของเกษตรกร และผู้บริโภค ที่สำคัญชาวไร่ชาวนากลับมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจน เพราะต้องลงทุนไปกับการซื้อปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช และวัชพืช ในขณะที่ผลผลิตราคาตกต่ำ เกษตรอินทรีย์จึงเป็นหนทางที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิต และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าว เสาหลักที่หนึ่ง คือเกษตรกรต้องมีองค์ความรู้ เสาหลักที่สองคือการส่งเสริมความรู้ที่ดีงาม เสาหลักที่สามคือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดพลังผลักดันขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ
พล.อ.ณพล กล่าวด้วยว่า คณะทำงานได้ลงพื้นที่ดูงานในตลาดชุมชนใต้โหนด ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี มีการรวมกลุ่มชาวบ้านไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นของชุมชนอย่างแท้จริง และเป็นผลผลิตอินทรีย์ทั้งสิ้น อีกทั้งที่ศูนย์เรียนรู้นาโปแก ก็ได้อนุรักษ์วิถีการทำนาแบบดั้งเดิมไว้ ยังคงใช้ควายไถนาอยู่ การสีข้าวด้วยมือ ตลอดจนการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์
“คณะทำงานได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดินและน้ำ เพื่อนำไปวิจัยถึงค่า PH หรือความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เราได้เก็บตัวอย่างดินจากผืนนาสามแปลงด้วยกัน พบว่ามีการใช้สารเคมีทำให้ดินเสื่อมสภาพ ส่วนพื้นที่ที่ใช้อินทรีย์มีสภาพดินที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก แต่ยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดินต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่าแปลงที่ใช้ปุ๋ยเคมีสามารถเก็บเกี่ยวได้แค่ 250 กก.ต่อไร่ ส่วนพื้นที่อินทรีย์ได้ผลผลิตราว 300-400 กก.ต่อไร่ โดยทีมผู้เชียวชาญจากต่างประเทศจะนำเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพดินด้วยชีวภาพมาปรับปรุงดินในผืนนาให้กับเกษตรกรเป็นพื้นที่ทดลอง ทั้งนี้คณะทำงานเชื่อมั่นว่า หากสามารถปรับปรุงดินจะสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ และเรื่องการตลาดจะต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ซึ่งตลาดใหญ่อย่างจีนพร้อมที่จะซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง”พล.อ.ณพลกล่าว
ดร.จอห์น สีชิงหง ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์จากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตนรู้สกดีใจที่มีโอกาสเดินทางมายังประเทศไทย ตนทำงานที่สถาบันวิจัยซีเอส สหรัฐอเมริกา และมีบริษัทที่ผลิตปุ๋ยชีวภาพและอินทรีย์ นอกจากนี้ยังทำงานที่มหาวิทยาลัยจงซิง แห่งไต้หวัน ที่ผ่านมาได้นำผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยผลักดันให้กับภาคเอกชนและภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสอนหนังสือให้กับนักศึกษาที่ไต้หวันด้วย ทั้งนี้ตนจะนำผลวิจัยมาปรับใช้เพื่อเกษตรกรชาวพัทลุง และต้องขอขอบคุณพล.อ.ณพลที่เป็นผู้ประสานทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเกษตรกรในจ.พัทลุงอย่างกว้างขวางอีกด้วย
ดร.วู๋ ฉี่เชิง จากมหาวิทยาลัยจงชิง แห่งไต้หวัน กล่าวว่า ตนในฐานะลูกชาวนาและได้ร่ำเรียนจนจบปริญาเอกที่มหาวิทยาลัยจงชิง ปัจจุบันก็ได้ทำงาน และสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
“จากการลงพื้นที่พบปะชาวไร่ชาวนาพัทลุง มองเห็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขมีสองเรื่องด้วยกัน คือวัชพืชหรือหญ้า เราจะทดลองใช้ยาชีวภาพมาฆ่าหญ้า และรวมถึงวิถีป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้นในนาด้วย ตนรู้สึกดีใจที่เกษตกรพัทลุงมีความรู้และเข้าใจเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างดี ผิดจากพื้นที่อื่นๆ ต้องอธิบายถึงข้อดีข้อเสียระหว่างปุ๋ยเคมี และอินทรีย์ ทั้งนี้จากผลวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่า ผลผลิตที่ได้รับจากอินทรีย์จะมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าเคมีร้อยละ 20 ถึง 30 เลยทีเดียว”
ดร.วู๋ ฉี่เชิง ระบุด้วยว่า การกำจัดหญ้านั้น เราสามารถนำพืชตัวอื่นมาปลูก เช่น หญ้าที่มีประโยชน์ต่อที่ดิน และสามารถไร่แมลงได้ เช่น ที่ไต้หวันรัฐบาลมีนโยบายให้ชาวนาปลูกยาสมุนไพรในนาด้วย รวมถึงปลูกดอกไม้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่นิยมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตกรได้อีกด้วย
ด้าน นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าฯพัทลุง กล่าวว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาพันธ์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นและคณะมาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้ และจะนำเทคโลยีชีวภาพมาพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในจ.พัทลุง
“การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืน จำเป็นต้องดำเนินการทำทั้งจังหวัด เนื่องจากพื้นที่พัทลุงมีความลาดชั้น กล่าวคือ 1 กิโลเมตรจะมีพื้นที่ลาดชั้น 1 เมตร หากพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในที่สูงและทำเกษตรด้วยสารเคมี พื้นที่ราบทำอินทรีย์ก็จะได้รับสารเคมีจากที่สูง” ผู้ว่าฯพัทลุงกล่าว
สำหรับ MOU ซึ่งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วยจ.พัทลุง สนนช. มหาวิทยาลัยทักษิณฯ และสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุงได้ตกลงให้ความร่วมมือในการสนับสนุนโยบายของจ.พัทลุง เพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของจ.พัทลุงให้ได้ 10,800 ไร่ ในปี 2564 โดยมีสาระสำคัญให้ร่วมกันสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการค้นคว้า วิจัยทดลอง และพัฒนาเกษตรอินทรีย์จ.พัทลุง และร่วมกันคัดเลือกพื้นที่เกษตรกรรมจ.พัทลุง ให้สนนช.นำเทคโนโลยีการผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ในการบำรุงดิน ทดแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และทดแทนยาฆ่าแมลง เป็นต้นนอกจากนั้น นายหวัง ไว่เจอ และนายจตุพร พัฒนภิญญโญ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีตามโครงการอีกด้วย