กรมพัฒนาชุมชน ลงนาม MOU มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จับมือแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือครัวเรือนรายได้ต่ำเกณฑ์ มุ่งสร้างอาชีพ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
กรมการพัฒนาชุมชนร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมลงนาม นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดจากการหารือร่วมกันของกรมการพัฒนาชุมชน และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนให้สามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นการตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ โดยจะให้การช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ตกเกณฑ์รายได้ จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ข้อ 22 รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี น้อยกว่า 38,000 บาท และเป็นครัวเรือนที่สามารถพัฒนาได้
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวอีกว่า สำหรับการลงนามในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้ลุกขึ้นมาประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด “ความยากจนเกิดจากการบริหารจัดการชีวิตที่ไม่เหมาะสม สามารถแก้ไขด้วยการบริหารจัดการชีวิต ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงซ้อน ไม่ใช่ปัญหาเชิงเดี่ยว ต้องแก้ไขเป็นรายครัวเรือนด้วยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และต้องใช้เวลาในการดำเนินการ”
“การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนมีฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนที่สามารถพัฒนาได้ จำนวน 15,429 ครัวเรือน โดยกรมฯ จะดำเนินการวิเคราะห์ จัดกลุ่มแยกประเภทอาชีพ ดำเนินการฝึกอบรมอาชีพให้ครัวเรือนตามความต้องการและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจะให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้ผ่านการอบรมอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง สามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โดยกรมฯ จะจัดทำแนวทางการดำเนินงานแจ้งให้จังหวัดทราบ และสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับชุมชนต่อไป”