“พุ่งหอกทวนสวนกระแสจักโต้ลมพรมพริ้วไร้ทิศทาง หอกทวนพุ่งทิศตรงลาง อานุภาพขจัดสิ่งขวางสิ้นสลายมลายสูญ …”
เพราะผลการเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 ที่ผ่านมา กับเก้าอี้ ส.ส.55 ที่นั่งแบบไม่เป็นทางการนำพามาสู่การประกาศลาออกของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค และเข้ามารักษาการณ์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค และหนึ่งในอาวุโสของพรรค ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์นำพาพรรคประชาธิปัตย์เดินไปในทางสองแพร่ง ในแทบๆ จะทุกมิติ
ทั้งมิติของการเป็นตัวแปรกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงในมือที่ยังมีอยู่ถึง 55 เสียง กลายมาเป็นอีกหนึ่งในพรรคที่มีบทบาทสำคัญเข้าไปกำหนดชะตากรรมของการจัดตั้งรัฐบาลของทั้งซีกเสียงข้างมากอย่างพรรคเพื่อไทยที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรืออีกซีกอย่างพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
และในอีกมิติหนึ่งคือความขัดแย้งภายในพรรคที่ประทุรุนแรงเริ่มจาก น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครส.ส.พิษณุโลกของพรรค ที่สอบตก (แบบไม่เป็นทางการ) คาบ้านตัวเอง ให้กับผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ พร้อมๆ กับการออกมาวิพากษ์วิจารณ์หัวหน้าพรรคอย่างนายอภิสิทธิ์ ที่เพิ่งลาออกไปหมาดๆ อย่างรุนแรง โดยสรุปว่าดำเนินนโยบายและแนวทางที่ผิดพลาดกับการประกาศไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ นำมาซึ่งความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ที่ น.พ.วรงค์ใช้คำว่า “พาเรืออัปปาง”
พลันทันทีเสียงตอบโต้จากนายเชาว์ มีขวด รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เวลาไม่นานหลังเสียงวิจารณ์ของน.พ.วรงค์ เล่นกันแรงๆ ถึงขนาดตะเพิด น.พ.วรงค์ ไปอยู่พรรคอื่น พร้อมใช้คำรุนแรง “กินบนเรือนขี้บนหลังคา” เหมือนศอกกลับใส่กันแรงๆ แบบไม่เกรงใจ กะให้แตกแอนตาซิลจ่ายกันเลยทีเดียว
ปรากฏการณ์มิติต่อมา คือ “อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์” ว่าควรจะไปทางไหน? กับเวทีการเมืองในฐานะร่วมหล่นจากพรรคใหญ่ระดับท็อปที ลงมาอยู่เป็นพรรคครึ่งร้อย กลายเป็นพรรคขนาดกลาง นี่ก็เป็นอีกมิติหนึ่ง ที่จะต้องลองมาผ่ากันดู
เพราะทั้งหมด ก็คือ “สองแพร่งในหลายมิติ” ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ และสุดท้ายจะอาจกลายเป็น “คำตอบ” ให้กับคอการเมืองได้หายคัน ในทุกๆ มิติที่เกิดขึ้น กับอนาคตของพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาเกือบศตวรรษ!!
อนาคตจะเป็นพรรคหลักสิบ? หรือจะขยับกลับมาติดท็อปทรีท็อปโฟร์ได้อีกครั้ง!!
เมื่อลองมามองวิเคราะห์เจาะดูจากปรากฏการณ์แรก “การเป็นตัวแปรกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงในมือที่ยังมีอยู่ถึง 55 เสียง” เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะแทบจะเป็นคำตอบของปรากฏการณ์ในมิติอื่นๆ รวมถึงการกำหนดอนาคตและทิศทางของพรรค โยนโจทย์ไปที่ผู้ใหญ่อาวุโส และกรรมการบริหารพรรค ที่มีภารกิจกอบกู้พรรคได้ตัดสินใจ
การจะร่วมรัฐบาลกับฟากเพื่อไทย หรือ พลังประชารัฐ ฝั่งไหนมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน แน่นอนว่า เสียงจากสองผู้อาวุโส อย่าง นายพิชัย รัตนกุล อดีตหัวหน้าพรรค และ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และ ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ ผู้ยังเป็นเสาหลักให้กับพรรค ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ โน้มเอียงไปทาง “การรักษาจุดยืนประชาธิปไตย” ที่อาจแปลความตรงตัวได้ว่า ไม่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ชัดเจนกับการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารนั่น หากการแปลความตีความไม่ผิดพลาดก็เช่นนั้น
ในขณะที่ ส.ส.ลูกพรรคเสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ว่าที่ ส.ส.สายใต้ (ส่วนใหญ่) กว่า 20 คนกลับโน้มเอียงไปในทางอยากให้ พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน ภายใต้เหตุผลที่มองไปคนละมุม
สองแพร่งนี้มองแบบไหนมุมหนึ่งหากเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีอำนาจต่อรอง และอยู่ในฐานะของฝ่ายบริหาร ร่วมรัฐบาล!!
แต่อีกมุม ก็อาจจะกลายเป็นแค่ลูกไล่ หันปลายหอกออกจากศัตรู ผู้ยื้อยุดเอาบทบาทและทรัพยากรของพรรคไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาแทนที่บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์บนเวทีการเมืองไทย ไล่ลงจากรองแชมป์ลุ้นแชมป์กลายมาเป็นพวกกลางตาราง
มองจากมุมนี้ก็อาจสุดกล้ำกลืนที่ฝ่ายผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค (และอาจรวมถึงกรรมการบริหารพรรค) จะรับได้!!
เพราะวันนี้ ศัตรูคู่แข่งตัวฉกาจของพรรคประชาธิปัตย์ อาจไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ ที่แรงแซงกลายเป็นพรรคระดับท็อปทรี แต่น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ที่ขึ้นไปชิงตำแหน่งรองแชมป์เสียมากกว่า!!
เรื่องนี้มองเห็นได้จากภาพที่นั่งของ ส.ส.ในกทม.เมืองหลวง และอีกหลายเขตในภาคใต้ ที่ “พลังประชารัฐ” แรงจัดปลัดบอก เช่นนั้นคำตอบถึงอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ ในมิติของปรากฏการณ์นี้ จึงอยู่ที่หันปลายหอกไปทางพลังประชารัฐ หรือจะหันด้ามหอกให้ พอเห็นเค้าลางท่าทีของผู้ใหญ่ ลองเอาวัดใช้เป็นเหตุเป็นผล
ไม่ว่าคำตอบจะออกมาในแพร่งไหนของสองแพร่งแรกนี้ แน่นอนว่า “จะต้องมีใบไม้ผลัดใบกันรอบใหญ่อีกครั้ง” เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
แค่มองจากคำตอบของมิติแรกสองแพร่งแรกเพียงมิติเดียว อาจเห็นคำตอบของสองแพร่งในมิติต่อๆ มาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ที่ “ไม่ว่าจะเลือกข้างไหน ก็ยังมีโอกาสที่จะต้องสูญเสียคนในพรรคออกไปอย่างต่อเนื่อง” ร้ายแรงไปกว่านั้น คำว่า “งูเห่า” อาจเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด กลายเป็น “งูเห่าประชาธิปัตย์” กับการซึ่งว่าที่ ส.ส.ยกมือสวนมติพรรค เลือกไปในข้างใดข้างหนึ่ง นั่นเป็นสมุติฐานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
แต่สมมุติฐานที่น่าสนใจ ก่อนกรรมการบริหารพรรค ผู้อาวุโส และว่าที่ส.ส.ในพรรคจะตัดสินใจอะไรลงไป ก็อยากแค่สะกิดเตือนใจพลพรรคลูกพระแม่ธรณีให้หวนคิดถึงข้อคิดสำคัญประการหนึ่งว่า
จุดยืนของพรรคอาจมีผลโดยตรงต่อกระแสความนิยมของประชาชน ความเพลี้ยงพล้ำที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีจุดยืนที่ไม่ชัดเจน” เมื่อพิเคราะห์ข้อคิดนี้ดีๆ อาจมีคำตอบว่า จุดยืนไหนคือจุดยืนของพรรค และนำพาพรรคกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง
ถ้าคิดหาจุดยืนตรงนี้ไม่ได้ ก็อยากให้ทั้งกรรมการบริหารพรรคฯ สมาชิกพรรคฯ ว่าที่ส.ส.ของพรรค และผู้อาวุโสของพรรค ลองเปิดประวัติศาสตร์ของพรรคกับการเริ่มต้นก่อตั้ง แล้วหวนย้อนกลับไปที่นโยบายและยุทธศาสตร์เมื่อครั้งนั้นอีกครั้ง
บางทีประวัติศาสตร์ อาจเป็นคำตอบของจุดยืน และเป็นแสงประทีบส่องทางข้างหน้าสู่อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นได้ …. “หอกทวนสวนกระแส จักโต้ลมพรมพริ้วไร้ทิศทาง หอกทวนพุ่งทิศตรงลาง อานุภาพขจัดสิ่งขวางสิ้นสลายมลายสูญ …”