ฝนแท้มาก่อนฝนเทียม! ช่วยคนกรุงฯจาก PM 2.5 สธ.เปิดศูนย์เฝ้ามลพิษ

กรมอุตุฯ เผย “ลมตะวันออกเฉียงใต้” พาฝนช่วยลดมลพิษในอากาศ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดศูนย์ ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ เน้นดูแลกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ ด้านกรมอนามัยแนะวิธีป้องกันเบื้องต้น

Advertisement

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองมีขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กำลังเป็นปัญหาและกลายเป็นกระแสโซเชียลในขณะนี้ และมีความพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ “ฝนเทียม” ซึ่งล่าสุด “ฝนจริง” ก็กลับมาเป็นพระเอกช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ให้กับชาวกรุงเทพฯ ได้ในระดับหนึ่ง เมื่อ กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่า ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้แล้ว มีแนวโน้มจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนาม ประเทศลาวตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 มกราคม 2562 และคาดว่าจะแผ่เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในช่วงวันที่ 17-19 มกราคม 2562 โดยจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นลง และอุณหภูมิจะลดลงโดยลมตะวันออกเฉียงใต้ได้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ของกทม.ซึ่งเป็นฝนเริ่มก่อตัวมาจาก จ.สมุทรปราการ ค่อยๆเคลื่อนตัวเข้ามายังกรุงเทพชั้นใน และจะเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งฝนที่เกิดขึ้นนี้ เป็นส่วนสำคัญที่อาจช่วยลดปัญหาฝุ่นควันให้กับชาวกทม.

อย่างไรก็ตาม ปัญหามลพิษจาก PM2.5 ยังคงเป็นปัญหาที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของชาวกทม. กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ

น.พ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

น.พ.สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่กทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2561 อย่างไรก็ดีจากการติดตามสถานการณ์กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันนี้ (14 มกราคม 2562) ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง คุณภาพอากาศโดยรวมยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สธ.จึงเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่กระทรวงฯ เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนและวิธีป้องกันตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแนวทางในการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากมลพิษในอากาศร่วมกับกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 รวมทั้งการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ กทม. ใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจและโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนทราบความเสี่ยงและป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองได้

พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย

ด้านพ.ญ.พรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ หากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะขอให้ไปพบแพทย์