เวทีเสวนาแนะ ยอมรับความจริงเลิกจับแล้วหันมาดูแล กลุ่มขายบริการทางเพศ พร้อมเสนอให้สังคมไทย มองคนที่คุณค่าของความเป็นคน พร้อมจี้รัฐสร้างสวัสดิการ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ยกเรื่องสิทธิสตรีเป็นวาระแห่งชาติ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในงานเสวนา “จับ ไม่จับ….หรือยกเลิกเอาผิดคนทำงานบริการทางเพศ” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ อันเป็นเครือข่ายคนทำงานด้านสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ ว่า การขายบริการทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ จากในอดีตสู่ระบบสถานบันเทิง เช่น อาบอบนวด ซึ่งกฎหมายของไทยระบุให้อาชีพขายบริการทางเพศเป็นความผิด แต่ผู้ซื้อบริการไม่ผิด
นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่าหลายครั้งเจ้าของสถานบริการบอกว่าไม่รู้เรื่องว่าผู้หญิงที่ทำงานในสังกัดมีการค้าประเวณี อาทิ บอกว่าถุงยางหรือเจลหล่อลื่นผู้หญิงแต่ละคนนำมาเองสถานบริการไม่รู้เห็นด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้ว หญิงขายบริการทางเพศในสถานบริการก็ซื้อในสถานบริการนั่นเอง
วันนี้ที่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ภามว่าแล้วการขายบริการทางเพศหมดไปจากสังคมไทยหรือไม่ ถ้าไม่เหนียมอายที่จะเอาความจริงมาพูด ก็ต้องยอมรับว่ายังมีคนอีกมากมายทั้งผู้หญิงและสาวประเภทสองที่ยึดอาชีพนี้ เช่น ตามย่านเก่าหลายแห่งในกรุงเทพฯ อย่างเยาวราช วงเวียนใหญ่ ราชดำเนิน ซึ่งเหล่านี้เห็นมาตั้งแต่ยังเด็กและจนบัดนี้ก็ยังพบเห็นอยู่
ขณะเดียวกันยังพบมีผู้หญิงอายุมากเข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศมากขึ้น เป็นเพราะว่าไม่มีรายได้เพียงพอที่จะดำรงชีพหรือไม่ ทั้งที่แต่ก่อนหลายคนอาจไม่ได้ประกอบอาชีพนี้เลยก็ได้ ซึ่งทุกครั้งที่เห็นผู้หญิงเหล่านี้ก็รู้สึกเป็นห่วง เพราะการไปกับคนที่ไม่รู้จักอาจถูกกระทำความรุนแรง แต่คนเหล่านี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เลย เหตุเพราะสังคมไทยขาดการมองด้วยการใช้ฐานคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่มักไปมองด้วยเรื่องศีลธรรมอันดีงาม เอาคุณค่าเอามาตรฐานบางอย่างของสังคมมาจับ ประเทศไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการ ยังไม่มีสวัสดิการที่เมื่อคนพ้นวัยทำงานแล้วจะได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เลยทำให้ปัญหาวนเวียนอยู่ตรงนี้ หลายคนก็เลยต้องเข้ามาสู่อาชีพนี้”
ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะ คือ 1.เพิ่มโอกาสได้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างถ้วนหน้า สังคมอย่ามองว่าอาชีพขายบริการทางเพศมีรายได้ดี เพราะไม่ใช่จะได้ทุกวันและไม่ใช่อาชีพที่จะทำได้ตลอดไป อายุมากขึ้นหน่อยก็ทำไม่ได้ 2.รัฐต้องใส่ใจนโยบายรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น รวมถึงลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 3.การจะออกกฎหมายสักเรื่องหนึ่ง ผู้ร่างกฎหมายต้องเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
4.ยกเรื่องสิทธิสตรีเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องนี้เห็นใจกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ต้องรับงานทั้งเด็ก สตรี คนชรา ผู้พิการ ซึ่งแต่ละเรื่องงานหนักมากขณะที่ พม. เป็นเพียงกระทรวงเล็กๆ และ 5.ยุติการเอาผิดกับอาชีพขายบริการทางเพศ โดยประเด็นนี้คณะทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN) เสนอแนะไว้ โดยให้ความเห็นว่างานบริการทางเพศก็เป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของประเทศไทย ในขณะที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว แต่เรากลับรังเกียจเดียดฉันท์คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานและเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศไทยมีรายได้ อยากเห็นสังคมไทยโอบกอดคนทุกคน อยากให้คนไทยมองคนที่คุณค่าของความเป็นคน ไม่มองที่ภายนอก ไม่ยอมให้อคติทัศนคติต่างๆ ที่เป็นการตีตราเข้ามาครอบงำ แล้วรังเกียจคนที่ประกอบอาชีพนี้ ขณะเดียวกันกลับยอมรับรายได้จากการประกอบอาชีพของคนกลุ่มนี้ ชุมชนรังเกียจที่รู้ว่าทำงานอะไร แต่กลับยินดีที่ครอบครัวมีบ้านหลังใหญ่ มีเครื่องอำนวยความสะดวก”
เครดิตข้อมูล เว็ปไซต์แนวหน้า เครดิตภาพ จากเว็ปไซต์ต่างประเทศ และ https://www.thaipr.net/