ที่ประชุมครม.ไฟเขียว มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ กฟผ.รับซื้อผลิตไฟฟ้า เคลียร์บ.รถยนต์ผลิตเครื่องยนต์รองรับ ดีเซล บี 20 หวังปี 62 ราคาปาล์มดีขึ้น
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากปัญหาราคาปาล์มในท้องตลาดตกต่ำ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่จากราคาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลได้เข้าไปเพื่อช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนที่เกษตรกรได้รับ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ เพื่อลดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มภายในประเทศ โดยใช้งบกลางสำหรับการเร่งรัดในการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบภายในวงเงิน 525 ล้านบาท มาเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มให้กับกระทรวงพลังงาน

โดยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 160,000 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท ไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร เป็นต้น เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะรับเงินชดเชยส่วนต่าง ระหว่างต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิง กับรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้า ในวงเงิน 525 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้ามารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสามารถดึงราคาปาล์มดิบในประเทศที่เกษตรกรได้รับให้สูงขึ้นได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท ถึง 3 บาท 50 สตางค์ ขณะเดียวกันเพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินในสต๊อก รัฐบาลยังได้เร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมผลักดันการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เพื่อพยุงราคาน้ำมันปาล์มและผลปาล์มไม่ให้ราคาตก ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่หลายราย ที่แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตรถยนต์ที่รองรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงบี 20 ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะระงับปัญหาที่เกิดขึ้น
ซึ่งคาดว่าในต้นปี 2562 จะเห็นสัญญาณราคาผลปาล์มดิบปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกอย่างจะประสบความสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องให้ความสำคัญกับการเก็บผลปาล์มสุกเต็มที่ การปลูกปาล์มคุณภาพเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างกลไกความยั่งยืนให้กับปาล์มซี่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคตต่อไป