“ประเทศกูมี” ฤารัฐบาลบอบบางกับการฟังเพลง “แร็ป”

เพลงแร็ปจากวง RAP AGAINST DICTATORSHIP ‘ประเทศกูมี’ ดัง!!! ทำยอดทะลุ 5.29 ล้านวิวแล้ว หลัง ‘ศรีวราห์’ ระบุจะให้ปอท.เชิญมาสอบปากคำ ด้านโฆษกรัฐบาลชี้ทำประเทศเสียหาย

Advertisement

ปรากฎการณ์ ติดแฮชแท็ก #ประเทศกูมี ในโลกโซเชี่ยลออนไลน์ ทำรัฐบาลใจสั่น ตาพร่ามัว จากเหตุการณ์ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ออกมาระบุว่า จะดำเนินการให้ ตำรวจ บก.ปอท.ตรวจสอบเนื้อหาเพลง “ประเทศกูมี” เข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวางในสังคมโซเชี่ยล ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ไม่นานหลังจาก”ศรีวราห์” ส่งเสียงหึ่ม นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งสวมหมวกโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีใหม่ถอดด้ามก็ออกมาแสดงบทบาท เล่นตามสคลิป ชี้ความรู้สึกว่า “รัฐบาลเสียใจในเรื่องนี้ คิดว่าเยาวชนน่าจะใช้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ไม่อยากให้คิดว่าทำแบบนี้แล้วเท่ ไม่แน่ใจว่าผู้ทำเพราะความตั้งใจของตัวเอง หรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ฝากเตือนแม้เนื้อหาส่อไปในทางต่อว่ารัฐบาล แต่สุดท้ายที่เสียหายมากสุดคือประเทศชาติ เพราะมีการเผยแพร่ไปทั่วโลก คนทำอาจสนุกสนานใช้ข้อมูลตอบโต้หรือว่ากล่าวรัฐบาล แต่สุดท้ายคนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย”

ตามธรรมชาติของเพลงแร็ป คือเนื้อหาบทเพลงเสียดสีสังคม อาจกล่าวได้ว่า “แร็ป” ได้ถือกำเนิดมาจากกลุ่มคนแอฟริกันอเมริกัน เช่นเดียวกับเพลง “บูล” ในช่วงยุค 70-80’ โดยมีรากมาจากเพลง ฟังก์, โซล และ เร็กเก้

ด้วยความที่แอฟริกันอเมริกันในยุคนั้นได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ถูกกดขี่จากกลุ่มคนขาวที่ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิว เพลง “บูล” และ แร็ป” ถึงมีเนื้อหาที่สะท้อนสังคมของการถูกกดขี่ไร้ความเท่าเทียม ขณะที่ปัจจุบันแม้การเหยียดผิวในสังคมอเมริกันจะเบาบางลง แต่เพลง “แร็ป” ก็ยังคงทำหน้าที่การสื่อสารถึงการเสียดสีสังคม ยาเสพติด เพศหญิงที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกัน

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในยุค 90’ เรามีแร็ปเปอร์ชื่อดังอย่าง โจอี้ บอย ,ไทเทเนียม และ ดาจิม ซึ่งฮิตติดลมบนอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นยุคนั้น ก่อนกระแสจะตกไป และกลับมาใหม่ในปี 2560 ที่แร็ปได้กลายเป็นกระแสเพลงฮิตอีกครั้งในประเทศจาก ช่องทางที่เรียกว่า “youtube”

แน่นอนก่อน RAP AGAINST DICTATORSHIP จะเปิดตัว MV เพลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค. กระแสนิยมของรัฐบาลกำลังสั่นคลอน การที่เพลง “ประเทศกูมี” มีเนื้อหาเสียดสีความเป็นจริงในสังคม ประกอบด้วย MV จำลองเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” ยิ่งทิ่มแทงใจผู้ใหญ่หลายคน ไม่แปลกใจที่จะมีคนออกมาดิ้นพล่าน

แต่สุดท้ายเพลงก็คือเพลง ที่ทำให้เราได้คิดวิเคราะห์แยกแยะความเป็นจริงของสังคม ณ ช่วงเวลานั้น หากจะบอกถึงการมอมเมาหรือชี้นำจากบทเพลงนั้นมันสามารถเกิดขึ้นได้ โดยขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดของแต่ละคน หากจะบอกว่าแนวเพลงและเนื้อหาที่เสียดสีสังคมจากเพลงนี้เป็นการทำลายชาติ ก็ต้องมองว่ารัฐบาลให้ค่าหรือราคากับเพลงๆหนึ่งมากจนเกินไป หรือตัวรัฐบาลเองที่บอบบางและอ่อนแอมากเกินไป

หาก Imagine ของ John Lennon คือบทเพลงอันทรงพลังมีผลต่อโลกใบนี้ หาก “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ คือบทเพลงปลุกพลัง ศรัทธา สร้างความหวัง “ประเทศกูมี” คงเปรียบได้กับการคำพูดทิ่มแทงใจใครหลายๆคน ให้ครุ่นคิดกับการกระทำของตนเอง

เรื่อง : สหาย สายวารี