ฤดูหนาวนี้อย่าเพียงผ่านแวะมาทำความรู้จักกับ “เมืองหริภุญชัย” กันให้มากขึ้น กับจังหวัด“ลำพูน” หนึ่งในเมืองรองน่าท่องเที่ยว อีกหนึ่งในชอยท์คนที่ชอบเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงเศษ เดิมทีจังหวัดแห่งนี้ มีฐานะเป็นเพียงแค่ทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่คนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมักใช้เวลาอยู่ที่ลำพูนเฉลี่ยเพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น นั่นจึงไม่น่าแปลกใจเมื่อพิจารณาถึงอัตราการพำนักของนักท่องเที่ยว เฉลี่ยอยู่เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น
แต่โดยข้อมูล จังหวัดลำพูน มีทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวของลำพูนที่หลากหลาย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้วยความที่ลำพูนเป็นเมืองเก่าโบราณ และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตคนมาแล้วรุ่นต่อรุ่น ทำให้ในปัจจุบัน ทุกภาคส่วนได้หันมาทำการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของลำพูนอย่างเต็มที่ เพื่อหวังให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเยือน เพื่อกระจายรายได้ลงไปยังชุมชนได้มากขึ้น
และสำหรับลำพูนแล้ว จังหวัดนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในจังหวัด ที่โดยใจสายเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย สำหรับจังหวัดลำพูน มีชื่อเดิมว่าเมือง “หริภุญชัย” เป็นเมืองเก่าแก่มีอายุประมาณ 1,300 – 1,400 ปี ตามตำนานเล่าสืบต่อกันว่า ฤาษีวาสุเทพเป็นผู้เกณฑ์ชนชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น เมื่อสร้างเสรจก็ได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ คือ “พระนางจามเทวี” มาเป็นกษัตริย์ปกครองเมือง ก่อนสืบวงศ์กษัตริย์ต่อมาอีกหลายพระองค์
จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา จึงได้เสียการปกครองให้แก่ “พ่อขุนเม็งรายมหาราช” ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา แม้ว่าเมืองหริภุญชัย จะถูกปกครองอยู่ภายใต้อาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้มีการถ่ายทอดศิลปะและวัฒนธรรมให้กับผู้มาปกครอง ดังหลักฐานที่ปรากฏทั่วไปในเมืองเวียงกุมกาม เชียงใหม่ และเชียงราย ล่วงมาจนเมื่อถึงรัชสมัย “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เมืองหริภุญชัยจึงได้เข้ามาอยุ่ในราขอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ “พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์” ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดปกครองจนถึงปัจจุบัน และด้วยความที่จังหวัดลำพูน มีต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่มากแล้ว ดังนั้นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จึงล้วนแต่เต็มไปด้วยความงดงาม โดยเฉพาะ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน สร้างขึ้นสมัย “พระเจ้าอาทิตยราช” ภายในวัดมี “พระบรมธาตุหริภุญไชย” มีอายุมากกว่า 1,000 ปี เป็นปูชนียสถานสำคัญและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนมาอย่างยาวนาน ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมธาตุในโกศทองคำ โดยองค์พระธาตุเป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยสีทองอร่าม ตามประวัติกล่าว พระเจ้าอาทิตยราช ได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำบรรจุพระบรมธาตุไว้
ในยุคของ“พระเจ้าติโลกราช” กษัตริย์ครองนครเชียงใหม่ได้ทรงกระทำการปฏิสังขรณ์บูรณะ เสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ การสร้างคราวนี้ได้สร้างโครงขึ้นใหม่เป็นรูปแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถการเดินทางมากราบสักการะพระธาตุหริภุญชัยได้ เพราะพระธาตุหริภุญชัย นับเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีระกาตามความเชื่อคติทางล้านนา
อีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่น่าสนใจ และใครที่มาลำพูนต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง คือ “วัดมหาวันวนาราม” ซึ่งเคยเป็นอารามหลวงของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญไชย ภายในวัดมีพระพุทธสิกขีปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่พระนางจามเทวีอัญเชิญมากจากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นต้นแบบของ“พระรอด” ใน “พระเครื่องเบญจภาคี” ที่มีมูลค่าสูง และมีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย
“นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า “จังหวัดลำพูนถือเป็นจังหวัดหนึ่งใน 55 จังหวัดที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรองตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำพูน ล่าสุดได้ถูกจัดทำไว้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเมืองรองตามโครงการ ไทยเที่ยวไทย..ไทยยั่งยืน ซึ่งแต่ละแห่งมีความสำคัฐทั้งเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแบบล้านนา เช่น “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” ซึ่งเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูน โดยเฉพาะการเดินทางมานมัสการพระธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำปีเกิดของปีระกาตามความเชื่อคติทางล้านนา
รวมทั้งยังมี “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี” ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย “วัดมหาวันวนาราม” ซึ่งเคยเป็นอารามหลวงของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ของนครหริภุญไชย ภายในวัดมีพระพุทธสิกขีปฏิมากร หรือพระศิลาดำเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่พระนางจามเทวีอัญเชิญมากจากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระรอดหลวง” หรือ “พระรอดลำพูน” และ “กู่ช้าง กู่ม้า” เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่คู่กัน และเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวลำพูน
สำหรับจังหวัดลำพูนนั้น เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ มีอายุประมาณ 1,400 ปี มีพระนางจามเทวี เป็นปฐมกษัตริย์ปกครอง มีพื้นที่ 4,505 ตร.กม. ประชากร 406,041 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 510 ตำบล 577 หมู่บ้าน 58 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน จังหวัดลำพูน ยังมีความสำคัญทั้ง การเป็น เมืองเกษตร โดยมีมีพื้นที่เกษตร รวม 630,053 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,816,176 ไร่ มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ลำไย หอมแดง กระเทียมและมะม่วง ล่าสุด ณ วันนี้ลำพูน ยังได้รับการต่อยอดแปรรูปผลผลิต เช่น ลำไยอบแห้งสีทอง ซึ่งได้เป็นอาหารว่างบนเครื่องบินการบินไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในแง่ของการรองรับอุตสาหกรรมนั้น จังหวัดลำพูนยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ และโรงงานเอกชน รวม 893 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 169,037 ล้านบาท ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GPP สูงที่สุดในภาคเหนือ ประมาณ 70,323 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อหัว 172,716 บาท/คน/ปี ส่วนด้านเมืองวัฒนธรรม มีพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเป็น 1 ใน 8 จอมเจดีย์ของประเทศ มีครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพี่น้องชาวจังหวัดลำพูน และเป็นผู้สร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสถิติการท่องเที่ยวรายจังหวัดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2561จังหวัดลำพูน มีจำนวนผู้มาเยือนทั้งหมด 81,466 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.4% คิดเป็นรายได้ประมาณ 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 8.5% ส่วนในช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2561) จังหวัดลำพูนมีผู้มาเยือน 635,510 คน คิดเป็นรายได้ประมาณ 885 ล้านบาท”
ยิ่งเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศในจังหวัดลำพูน เย็นสบาย และเป็นช่วงเวลาทองแห่งการท่องเที่ยว สำหรับใมนภาคเหนือแล้ว ใครที่ยังเพียงแต่ผ่าน ก็ลองแวะทำความรู้จักกับ “ลำพูน” จังหวัดแห่งวัฒนธรรม ที่มีอารยธรรมมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี
และจังหวัดลำพูนพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเที่ยว โดยได้จัดเตรียมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้แพ็กเกจในโครงการ “ไทยเที่ยวไทย…ไทยยั่งยืน” ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ อีกทั้งจังหวัดลำพูนยังได้มีการประกาศให้เป็นเมืองสะอาดปราศจากโฟม (No Foam) ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของประเทศไทยอีกด้วย