เสนอไอเดีย ผุดรถฟ้ามวลเบา (Light Rail Transit) 14 สาย เชื่อมระบบขนส่งของรถไฟฟ้าสายหลัก เพิ่มการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเมือง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์สเปิดเผยว่า ในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ซึ่งปัจจุบันมีการจราจรหนาแน่น ควรจะมีโครงการที่เรียกว่า รถไฟฟ้ามวลเบา หรือ Light Rail Transit (LRT) เช่นเดียวกับของประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้ Light Rail Transit (Light Rapid Transit) หรือรถไฟฟ้ามวลเบา ถือเป็นระบบเสริมของรถไฟฟ้ามาตรฐาน (MRT) โดยเชื่อมในพื้นที่ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยหนาแน่น กับพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ ช่วยอำนวยความสะดวกของประชาชนให้สามารถเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนจากย่านที่อยู่อาศัยเข้าสู่ย่านเศรษฐกิจสำคัญได้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายหลัก
ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์มีรถไฟฟ้ามวลเบาให้บริการในพื้นที่ Bukit Panjang ,Sengkang และ Punggol ลักษณะของรถไฟฟ้ามวลเบาสิงคโปร์นั้นจะคล้ายกับระบบรถไฟฟ้าที่เชื่อมระหว่างอาคารท่าอากาศยานของท่าอากาศยานใหญ่ทั่วโลก โดยมากเป็นรถไฟฟ้าตู้เดียวหรือมีไม่กี่ตู้ เพราะไม่ได้มีผู้โดยสารมากมายเช่นรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไป สิงคโปร์พัฒนาระบบรถไฟฟ้ามวลเขาขึ้นมาเพื่อเชื่อมชุมชนใกล้เคียงกับระบบรถไฟฟ้ามาตรฐานหลักที่มีอยู่ และขณะนี้มี 3 สาย จำนวน 42 สถานี รวมระยะทาง 28.8 กิโลเมตร มีผู้ใช้บริการวันละ 160,000 คนโดยรวม
“ตนขอยกตัวอย่างพื้นที่หนึ่ง คือ Punggol ซึ่งถือเป็นเมืองใหม่ที่มีระบบรถไฟฟ้ามวลเบาวิ่ง พื้นที่นี้มีขนาดประมาณ 9.57 ตารางกิโลเมตร 5,981 ไร่เท่านั้น แต่บริเวณที่อยู่อาศัยมีขนาดเพียงประมาณ 2,000 ไร่ มีที่อยู่อาศัย 16,000 หน่วย คาดว่าจะสามารถมีประชากรราว 60,000 คน โดยคิดค่าโดยสารระหว่าง 20-25 บาท ซึ่งนับว่าถูกมากสำหรับคนสิงคโปร์ที่มีรายได้มากกว่าคนไทยถึงประมาณ 6 เท่า หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับค่าโดยสารประมาณ 4-6 บาทถ้าเป็นในกรณีประเทศไทย (ถูกกว่าค่ารถประจำทางหรือรถสองแถวเสียอีก)
สำหรับพื้นที่เบื้องต้นที่ควรจะมีการสร้าง LRT นั้น ประกอบไปด้วย 14 เส้นทางสายหลักคือ พื้นที่ต่อไปนี้ ซึ่งสามารถทำ LRT ได้ประกอบด้วย
- ถนนพญาไท บรรทัดทอง อังรีดูนังต์
- ถนนเจริญกรุง (ถนนตก) ตรอกจันทน์ เซ็นต์หลุยส์
- ถนนทองหล่อ ซอยสุขุมวิท 49 (ซอยกลาง) เอกมัย
- ถนนอ่อนนุชและบริเวณใกล้เคียง
- ถนนสรรพาวุธและบริเวณใกล้เคียง
- ถนนเทียมร่วมมิตร
- ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ชานเมือง ประชาสงเคราะห์
- ถนนอินทามระ
- ถนนรัชดาภิเษก พหลโยธิน
- ถนนประชาชื่น ประชาราษฎร์สาย 1
- ถนนประดิพัทธ์ อารีย์สัมพันธ์
- ถนนพระราม 1 พระราม 6 เพชรบุรี
- ถนนสี่พระยา เจริญกรุง สุรวงศ์
- ถนนเจริญนคร สมเด็จเจ้าพระยา
อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาบรรจุอยู่ในแผนระบบขนส่งมวลชนหลัก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรที่มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ลดระยะเวลาการเดินทาง ขณะเดียวกันด้านการลงทุนนั้น หากภาครัฐมองว่าไม่คุ้มทุน สามารถที่จะให้การลงทุนในลักษณะ PPP ให้ภาคเอกชนร่วมทุน หรือจะให้ภาคเอกชนและต่างชาติลงทุนทั้งหมดแต่จะต้องอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายที่รัดกุม