อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในมุมมองสื่อต่างประเทศ นอกเหนือการการเฝ้าระวังและจัดการกับปัญหา “น้ำหลาก” และ “น้ำฝน” สาเหตุหลักของการเกิดอุทกภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับปัญหา “น้ำทะเลเพิ่มระดับ” ซึ่งเกิดจากการพัฒนาอย่างไรทิศทาง ที่ต้องเร่งแก้ไขก่อน กรุงเทพฯ จะจมบาดาลในอนาคต
เพราะเป็นฤดูน้ำหลากที่หลายคนก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับ “น้ำเหนือ”หรือ “น้ำหลาก” และ “น้ำฝน” ซึ่งหลายหน่วยงานก็ทะยอยออกมาเตือนถึงประเทศไทยในห้วงเวลานี้ ว่าอาจมีความเสี่ยงต่ออุทกภัย และภัยธรรมชาติอื่นๆ ในหลายพื้นที่ ซึ่งเกิดจากสาเหตุของฝนที่ตกหนัก
โดยเฉพาะ “กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวง ที่แต่ละปีต้องเผชิญกับฤดูกาล “ฝนตกสะสม” และ “ปริมาณน้ำ” ที่ส่งผลให้เกิดภาวะ “น้ำท่วม” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในประเทศไทยเองหลายฝ่ายอาจให้น้ำหนักไปที่ “ฤดูกาล และการบริหารจัดการน้ำ”เป็นปัจจัยสำคัญ
แต่สำนักข่าวต่างประเทศกลับมองเรื่องนี้ต่างออกไป โดยมองมุม “การสูงขึ้นของน้ำทะเล” ที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญทำให้ “กรุงเทพจมบาดาล”
ในการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงต้นเดือนกันยายน สำนักข่าวเอเอฟพีให้ความสนใจโดยระบุว่า คนกรุงเทพฯ กว่า 10 ล้านคนกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และคาดว่า กรุงเทพฯ จะเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในโลก เช่นเดียวกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์”
เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจถูกมองข้ามไปเพราะคนกรุงเทพฯเองหันไปให้ความสนใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และเรื่องของปริมาณฝน เป็นปัจจัยสำคัญ
ปรากฏการณ์น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้น ถูกจับตามองจากผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ในระดับโลก และไม่ได้มีผลเฉพาะ “กรุงเทพ” แต่มีผลกับเมืองหลวง และเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่า พื้นที่กรุงเทพฯ เกือบร้อยละ 40 จะเผชิญน้ำท่วมภายในต้นปี 2573 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเป็นปริมาณมากและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รายงานยังอ้างความเห็นของกลุ่มกรีนพีซในไทยด้วยว่า กรุงเทพฯ ซึ่งเคยอยู่เหนือระดับน้ำทะเล มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในอนาคต เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้ว โดยน้ำทะเลในอ่าวไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4 มิลลิเมตรต่อปี เหนือค่าเฉลี่ยโลก
จากการวิเคราะห์โดยหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเพิ่มระดับของน้ำทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย มองสาเหตุของ การเกิดน้ำท่วม และการเพิ่มระดับน้ำทะเล ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
เนื่องจากที่ผ่านมา สภาพความเป็นเมือง การพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง ความเจริญของเมือง การก่อสร้างโครงการตึกรามอาคารต่างๆ บวกกับพื้นที่แนวชายฝั่ง ซึ่งสูญเสียระบบนิเวศจากการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการหายไปของปราการสำคัญในการป้องกันการกัดเซาะ และปราการกั้นระหว่างน้ำทะเลและชายฝั่ง อย่าง “ป่าชายเลน” ซึ่งยากสำหรับการฟื้นฟูในระยะเวลาอันสั้น อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการรุกเข้ามาของน้ำเค็ม ผ่านแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพ ทั้งหมดนี้เป็นอีกเหตุปัจจัยสำคัญ นอกเหนือจาก “น้ำหลาก” และ “น้ำฝน” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามฤดูกาล ซึ่งมีผลต่ออุทกภัยที่รุนแรงขึ้นทุกปีของกรุงเทพเมืองหลวงของประเทศไทย จนอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ขั้นวิกฤตในอนาคต
ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาอย่างไรทิศทาง เป็นเวลาต่อเนื่องมายาวนาน และถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ต้องหันมามองเรื่องการเพิ่มระดับของน้ำทะเล และหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับ การให้ความสำคัญเรื่องของ “น้ำหลาก” และ “น้ำฝน”
หากต้องการรับมือกับปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร ก็ควรต้องหยิบยก เรื่องของ “น้ำทะเลหนุนสูง” และการแก้ไขปัญหาการพัฒนาเมือง และ การสูญหายไปของป่าชายเลน มาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงๆ พร้อมๆ ไปกับ การบริหารจัดการน้ำ ทั้ง น้ำหลาก และ น้ำฝน ซึ่งเป็นสิ่งที่ กรุงเทพต้องเผชิญอยู่เป็นประจำตามฤดูกาล
ที่มาข้อมูล สำนักข่าวเอเอฟพี