ปิงวังยมน่านเทรวมๆ ฤดูน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานย้ำทุกโครงการในสังกัด เฝ้าระวังฝนหนักซ้ำ เปิดสายด่วนให้ประชาชนได้เช็คระดับน้ำที่ 1460
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้แม่น้ำสายหลักไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนกันยายน ยังคงมีฝนตกในพื้นที่เดิมตามฤดูกาลปกติ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยในช่วงปลายเดือนกันยายน ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน ที่ทำให้มีฝนตกบริเวณตอนบนของประเทศได้
ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (31 ส.ค. 61) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,214 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,518 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 8,650 ล้าน ลบ.ม. วางแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม เขื่อนภูมิพล ระบายน้ำวันละ 5-8 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ระบายน้ำวันละ 1.30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงระบายน้ำในอัตราวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระบายยังคงไหลอยู่ในลำน้ำต่ำกว่าตลิ่ง พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,134 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 5.06 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนเขื่อนเจ้าพระยามีน้ำให้ไหลผ่าน 780 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถึงบริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร และไม่ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด
ในส่วนของแม่น้ำท่าจีน ระดับน้ำมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ได้เร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนบริเวณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 12 เครื่อง, และบริเวณอ.บางเลน 16 เครื่อง อ.นครชัยศรี 31 เครื่อง และอ.สามพราน จ.นครปฐม 22 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 81 เครื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ให้ทุกโครงการชลประทาน บูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหาร และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนและผู้ประกอบกิจการ บริเวณริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝน-น้ำท่าที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือได้รับน้อยที่สุด ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460