นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการจัดทำ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 กรมการจัดหางานได้นำข้อมูลและผลการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณาตั้งแต่ก่อนเสนอร่าง พ.ร.ก. ต่อ ครม. และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.ก. แล้วเสร็จ กรมการจัดหางานได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวด้วยวิธีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น ส่งแบบสอบถาม และรับฟังผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางานและยังมีมาตรการ 3 P คือ 1) การประชาสัมพันธ์ (Public Relations) เผยแพร่และสร้างความเข้าใจกับนายจ้าง แรงงานและประชาชนได้รับทราบสาระสำคัญที่ครบถ้วน
อันจะทำให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเน้นประชาสัมพันธ์การนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การจัดระบบแรงงานต่างด้าวมีความสมดุลสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจ และสามารถควบคุมดูแลได้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ตามที่พึงได้ ทั้งยังเน้นการทำงานร่วมกับ ILO, NGOs, ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง 2) การส่งเสริมสนับสนุน (Promotion) ส่งเสริมการจ้างแรงงานไทย โดยเปิดโอกาสให้รับแรงงานไทยเข้าทำงานเป็นลำดับแรก ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงระเบียบให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อการเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายน้อยและสะดวกรวดเร็ว การกระทำผิดกฎหมายก็จะลดลงตามลำดับ และเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้มีการวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจ/เอกชน ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถในการผลิต ซึ่งจะทำให้การทำงานที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นลดน้อยลง 3) การบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นการตรวจกลุ่มเสี่ยงเป็นลำดับแรกและกำหนดแผนการตรวจสอบสถานประกอบการอย่างเป็นระบบ
นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการยกร่างกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 กรมการจัดหางานได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาหอการค้า ภาคประชาสังคมต่างๆ เป็นต้น เพื่อเข้ามาร่วมพิจารณาให้ความเห็นในการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองด้วย ซึ่งการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามกระบวนการ ขั้นตอนที่กำหนดไว้เพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีบทบัญญัติที่ครอบคลุมการบริหารจัดการทั้งระบบ โดยกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งคนต่างด้าวกลับประเทศกรณีเลิกจ้างงานแล้ว กำหนดให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานของคนต่างด้าว ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐทราบข้อมูลการจ้างงานที่แท้จริง กำหนดขอบเขตการทำงานตามข้อเท็จจริงและความจำเป็นโดยอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายครอบคลุมท้องที่จังหวัดที่ได้รับอนุญาตทำงาน โดยไม่ยึดติดกับสถานที่ทำงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับเดิม
ซึ่งจะช่วยลดภาระของนายจ้างในการขออนุญาตเปลี่ยน เพิ่มสถานที่ทำงาน กำหนดให้มีการทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชน ข้อกำหนดเหล่านี้ สามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้รัฐบาลเปิดให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในกระบวนการยกร่างกฎหมาย เพื่อเพิ่มมุมมองให้เกิดความรอบคอบ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่ข่มขู่รีดไถเงินจากนายจ้างและลูกจ้างนั้น ขณะนี้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 อยู่ระหว่างยกร่างอนุบัญญัติ ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวที่ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายในชั้นอนุบัญญัติ