นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสระแก้วพร้อมรับAEC

กระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสระแก้ว บทพื้นที่กว่า660 ไร่ ซึ่งถือเป็นนิคมฯ แห่งแรกในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลได้เดินหน้าในการพัฒนาพื้นที่รองรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ส่งผลให้ขณะนี้ได้เกิดความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่จะนำไปสู่การขยายเส้นทางการค้า และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ผ่านความร่วมมือโครงการประชารัฐ ซึ่งล่าสุดมี พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการประชารัฐ OTOP/SMEs/การท่องเที่ยวและนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ไปแล้ว และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างนิคมฯ ในราวปี 2561โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ โลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า อาหารและเกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

Advertisement

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า “ในส่วนของความพร้อมของพื้นที่จังหวัดสระแก้วนั้นนับว่ามี ความพร้อมมากที่สุดเนื่องจากไม่ติดปัญหาบุกรุก อีกทั้งยังมีความชัดเจนในภาพร่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะเดียวกันยังมีสภาพพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชาและมีเงินสะพัดปีละหลายพันล้านบาทจากการค้าชายแดน ดังนั้น จังหวัดสระแก้วจึงเป็นพื้นที่ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ประกาศให้เป็นจังหวัดนำร่อง ตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพิ่มการจ้างงาน สร้างความ มั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้สามารถก้าวสู่การเป็น ประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์

ในส่วนของด่านชายแดนอรัญประเทศ นับเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาสูงโดยปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนด่าน อ.อรัญประเทศ มีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งระบบการคมนาคม โลจิสติคส์ที่ดี ทำให้การนำเข้าและส่งออกเป็นไปด้วยความสะดวก ขณะที่ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ชายแดนทั้ง 2 ประเทศยังเป็นไปด้วยดีนอกจากนั้น อรัญประเทศยังมีทำเลที่เหมาะสมตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบับ และกรุงเทพฯ ทำให้เหมาะที่จะเป็นช่องทางการค้าและขนส่งสินค้าไปยังกรุงพนมเปญและเวียดนามตอนใต้ได้ รวมทั้งยังสามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตร่วม (co-production) กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียง ของประเทศกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า กล่องใส่เครื่องประดับ และยังมีแนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการขนส่งต่อเนื่องอีกหลายรูปแบบ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับสระแก้วจะทำให้การค้าเติบโตได้อีกมาก”  นายอุตตมกล่าว