กระทรวงอุตสาหกรรม รุกพื้นที่สระแก้ว หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกัมพูชา หนุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรก ตั้งเป้าเสริมแกร่งธุรกิจเอสเอ็มอีติดอาวุธครบมือเร่งให้การช่วยเหลือครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ เตรียมพัฒนาผู้ประกอบการ และพื้นที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจการค้าชายแดนเชื่อมต่อกัมพูชา-เวียดนาม ไปยังตลาดโลก พร้อมจับมือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้า “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งที่ 4 โดยได้รับเกียรติจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมสเตชั่น วัน อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมี นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้การต้อนรับ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า การจัด “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 สำหรับครั้งนี้มีเป้าหมายลงพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ซึ่งอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ภาคกลางตอนกลางและตะวันออกที่นับเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีมูลค่าทางอุตสาหกรรมสูงที่สุดในอับดับต้น ๆ ของประเทศ เนื่องจากมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา และยังต่อยอดไปยังเวียดนาม และตลาดโลก
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยต่อไปว่า “ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการ “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรตามแนวประชารัฐ” นั้น ตลาดโลก หลังจากที่เปิดตัวโครงการไปได้ไม่นานขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศยื่นคำขอทั้ง 4 มาตรการแล้ว 9,158ราย วงเงิน 24,151 ล้านบาท อนุมัติแล้วจำนวน 2,206 ราย ในวงเงิน 5,996 ล้านบาท โดยในส่วนของจังหวัดยุทธศาสตร์ภาคกลางตอนกลางและตะวันออก ที่ประกอบไปด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ตอนนี้มีผู้ขอความยื่นคำขอรับความช่วยเหลือเข้ามาแล้วจำนวน 316 ราย วงเงิน 875.88 ล้านบาท และได้อนุมัติรวมทุกกองทุนไปแล้ว จำนวน 57 ราย วงเงิน 212 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น จังหวัดสระแก้ว จำนวน 73 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 11 ราย วงเงิน 33 ล้านบาท จังหวัด นครนายก จำนวน 22 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 4 ราย วงเงิน 12 ล้านบาท จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน83 ราย อนุมัติ ไปแล้ว จำนวน 14 ราย วงเงิน 38 ล้านบาท จังหวัดจันทบุรี จำนวน 66 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 19 ราย วงเงิน 91 ล้านบาท และจังหวัดตราด จำนวน 72 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 9 ราย วงเงิน 38 ล้านบาท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลัก ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางที่สำคัญขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรม รองลงมาภาคการขายส่ง การขายปลีก และ การขนส่งเป็นสำคัญ พร้อมทั้งที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งจะได้มีการเร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358