“Partnership School”สู่การศึกษาไทยยุคใหม่ ศธ.จับมือซีพีฯพัฒนา

ได้เวลาภาคการศึกษาไทยเดินหน้าสู่อนาคต เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ ซีพี ออลล์ ขับเคลื่อนโครงการ “Partnership School” เตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่อนาคต

Advertisement

เป็นอีกหนึ่งในเส้นทางสำคัญ ขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้พัฒนาไปสู่อนาคต กระทรวงศึกษาธิการ และ ซีพี ออลล์ ร่วมผลักดันโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” หรือ“Partnership School” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ซึ่ง ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย หนึ่งใน 12 องค์กรภาคเอกชน ร่วมขับเคลื่อนโครงการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการบริหารจัดการ พัฒนา และสนับสนุนการศึกษาไทย โดยระยะแรกได้คัดเลือกโรงเรียนนำร่อง 50 แห่ง ใน 30 จังหวัด ก่อนขยายผลไปสู่โรงเรียนต้นแบบอีก 30,000 แห่งทั่วประเทศ

ศ.น.พ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางลงพื้นที่มอบนโยบายและติดตามผลการดำเนินงาน“โรงเรียนร่วมพัฒนา” หรือ “Partnership School” โรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร) จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน จ.เชียงราย ซึ่งซีพี ออลล์ให้การสนับสนุน โดยเน้นย้ำกับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ว่า  “โรงเรียนทั้ง 2 แห่งได้ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 50 โรงเรียนร่วมพัฒนาระยะแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ที่จะมีการบริหารจัดการและกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่สร้างอนาคตเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้ด้านวิชาการ และวิชาชีพควบคู่กันไป

ศ.น.พ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

“โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ20 ปีของรัฐบาล โดยมีหลักการสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าพลังจากภายนอกจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการบริหารงานในแนวทางใหม่ ๆ ที่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ที่ดี สร้างเด็กไทยตอบโจทย์ยุค 4.0 พร้อมพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน”

ขณะที่นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า “ซีพี ออลล์ มีนโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นภารกิจหลักเพื่อตอบแทนสังคมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องด้วยการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสังคม 2 แห่งคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) พร้อมศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ 20 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยใช้ระบบการเรียนการสอนภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฎิบัติงานจริง (Work-based Education) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “สร้างเยาวชนสู่มืออาชีพ”

นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย

“ซีพี ออลล์ มีความมุ่งมั่นและภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งจะนำองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขององค์กรไปต่อยอดสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนที่เข้าไปร่วมพัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียนสำหรับอนาคตให้มีทักษะการใช้ชีวิตอย่างรอบด้านและเป็นคนดี-คนเก่งของสังคม”

โดยการขับเคลื่อนโครงการระยะแรกซีพี ออลล์ ได้เข้าไปร่วมวางแผนผ่านการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ครู ผู้ปกครอง เกิดเป็นแผนงานและเป้าหมายที่แตกต่างกันไปตามบริบทของโรงรียน แต่มีรูปแบบการขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันคือนำ “Business Model Canvas” ซึ่งเป็นเครื่องมือออกแบบโมเดลธุรกิจ มาปรับใช้กับการบริหารงานการศึกษา พร้อมเน้นย้ำการพัฒนา 5 ด้านได้แก่1.ด้านการพัฒนาการเรียนการสอน 2.ด้านการพัฒนาครูและบุคลากร 3.ด้านการพัฒนากิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ 4.ด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และ5.ด้านอาคารสถานที่ ภายใต้กรอบการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยหลัก 3R 8C ให้สอดคล้องตามเป้าหมายที่แต่ละโรงเรียนกำหนดดังเช่นโรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร) จ.พระนครศรีอยุธยา กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานจากโรงเรียนขนาดเล็ก สู่โรงเรียนคุณภาพขนาดกลาง สร้างการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ผู้เรียนร่วมกับชุมชนที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและเชื่อมโยงเข้าสู่การเรียนเชิงวิชาการให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

ในส่วนโรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน จ.เชียงราย เน้นย้ำการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนโรงเรียนจากขนาดกลางไปสู่โรงเรียนคุณภาพขนาดใหญ่ผ่าน “โครงการยุวเกษตรกรรม” พร้อมเชื่อมโยงไปสู่การบูรณาการการเรียนรู้แบบข้ามกลุ่มสาระ ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) เช่นสร้างการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning: PBL) และชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาการศึกษา เติมเต็มช่องว่างและสร้างความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษา ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมอย่างยั่งยืน