เปิดเทรนด์ธุรกิจมาแรงแห่งปี 61 “บริหารจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หาน้ำ กำจัดของเสีย”ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ขยายตัวเป็นอันดับ 1
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยในการแถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประจำเดือน กรกฎาคม 2561 โดยระบุว่า ขณะนี้ธุรกิจจัดหาน้ำ จัดการน้ำเสีย และของเสีย มีแนวโน้มขอยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานและปริมาณของเสียในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล่าสุดข้อมูล 7 เดือนของปี 61 หรือตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. 61 มีผู้ประกอบการ ยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจ จัดหาน้ำ จัดการน้ำเสีย และของเสียแล้ว 138 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 79% มีทุนจดทะเบียน 960 ล้านบาท ขยายตัว 880% ถือว่าเป็นการขยายตัวที่สูงสุดอันดับ 1
ทั้งนี้การที่มีบริษัทธุรกิจกำจัดของเสียจดทะเบียนสูง เป็นผล มาจากนโยบายรัฐบาลไทยและทั่วโลกที่ให้ความสำคัญแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และมีบทลงโทษที่ชัดเจนกว่ามีการทำลายสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีการตรวจจับและลงโทษผู้ที่กระทำผิดอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องของกากขยะ ทั้งน้ำเสียและการทำให้เกิดมลพิษ ทำให้ความต้องการด้านการกำจัดของเสียมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบันมีบริษัทจัดหาน้ำ จัดการน้ำเสีย และของเสียที่จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยแล้ว 1,730 ราย ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตไปพร้อม ๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้กำหนดมาตรการในการรักษาและป้องกันอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดการขยายตัวอย่างมากในพื้นที่ต่าง ๆ ส่งผลให้ธุรกิจบริการประเภทรีไซเคิลเติบโตเพื่อรองรับปริมาณของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
สำหรับการเข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคล การจดทะเบียนธุรกิจภาพรวมในเดือน ก.ค. 61 พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,964 ราย ลดลง 0.3% เทียบกับ ก.ค. 60 โดยมีทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 2.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% ทำให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 7 เดือนมีจำนวน 4.35 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกในเดือน ก.ค. 61 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 516 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9% ของประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่ รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 322 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 204 ราย คิดเป็นสัดส่วน 3%
ขณะที่การจดทะเบียนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนก.ค. 61 มีจำนวน 1,688 ราย เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับก.ค. 60 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 6,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.75% ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกกิจการช่วง 7 เดือน มีจำนวน 7,977 ราย ลดลง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรกในเดือน ก.ค. 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 148 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9% ของประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนเลิกกิจการ รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 115 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7% และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 56 ราย คิดเป็นสัดส่วน 3%
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดว่าจะมีธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั้งปีนี้ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอยู่ ในเกณฑ์ดีจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาครัฐในระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ