ทันตแพทยสภาพิสูจน์เครื่องเอกซเรย์ฟัน ยันปลอดภัยต่อประชาชน รังสีต่ำที่สุด

ทันตแพทยสภาพิสูจน์เครื่องเอกซเรย์ฟัน ยันปลอดภัยต่อประชาชน รังสีต่ำที่สุด
ทันตแพทยสภาแถลงยืนยันเครื่องเอกซเรย์มีความปลอดภัยต่อประชาชน มีความปลอดภัยสูงมาก
มีรังสีต่ำมากที่สุด และบุคลากรทางการแพทย์ ทันตแพทย์ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พร้อมพิสูจน์ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยจะได้รับ ระบุเท่ากับปริมาณรังสีที่ได้รับตามธรรมชาติอยู่แล้ว 2 ชั่วโมงครึ่ง ยืนยันต้องออกกฎกระทรวงยกเว้น ชี้ต้องไม่สร้างภาระ เพิ่มขั้นตอนโดยไม่จำเป็นต่อประชาชนและทันตแพทย์
เมื่อวันที่ 15 พ.ค.60 ณ สำนักงานทันตแพทยสภา สถาบันทันตกรรม กระทรวงสาธารณสุข ทันตแพทยสภาแถลงข่าวเครื่องเอกซเรย์ฟันปลอดภัยต่อประชาชน พร้อมทดสอบปริมาณรังสีที่เกิดจากการใช้เครื่องเอกซเรย์ฟัน ทั้งนี้ภายหลังแถลงข่าว ได้มีการผ่าเครื่องเอกซเรย์พิสูจน์ปริมาณรังสีด้วย

Advertisement

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ประเด็นความไม่เข้าใจเรื่องการควบคุมและกำกับเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมหรือเครื่องเอกซเรย์ฟันใน พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เกิดขึ้นระยะหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาพร้อมด้วยเครือข่ายทันตแพทย์ทั่วประเทศได้ชี้แจงให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสัน (ปส.) ได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง เพื่อจะนำไปสู่ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา เพราะข้อเท็จจริงคือ เครื่องเอกซเรย์ฟันนี้มีความปลอดภัยสูงมาก มีรังสีต่ำมากที่สุด และบุคลากรทางการแพทย์ ทันตแพทย์ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่ผ่านมาก็อยู่ในกำกับดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า แต่ช่วงที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องเอกซเรย์ฟัน จนอาจจะสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนที่ไปรับบริการทันตกรรม ทันตแพทยสภาจึงต้องเชิญสื่อมวลชนมาดูการวัดปริมาณรังสีจากเครื่องเอกซเรย์ฟันในสถานที่ทำงานจริง เพื่อให้เห็นว่าเครื่องเอกซเรย์มีความปลอดภัยจริง ทั้งในคลินิกและเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างเคียง
ด้าน รศ.ทพ.สุนทรา พันธ์มีเกียรติ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันโดยทั่วไปมี 2 แบบ คือ 1.การถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันภายในช่องปาก ซึ่งเป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันเพื่อการวินิจฉัยที่ทันตแพทย์ใช้กันอย่างแพร่หลาย และ 2.การถ่ายภาพเอกซเรย์นอกช่องปาก เพื่อดูรอยโรคขนาดใหญ่ ดูกะโหลกศีรษะ หรือใช้เพื่อการจัดฟัน
ทั้งนี้การถ่ายภาพเอกซเรย์ในช่องปากนั้น ผู้ป่วยจะได้รับรังสีน้อยกว่า 0.001 mSv หรือเท่ากับการได้รับรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ต้องเข้าใจก่อนว่ามีรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้ว ขณะนี้เมื่อดูจากเครื่องวัดปริมาณรังสี ก็มีปริมาณรังสีตามธรรมชาติอยู่ และเครื่องเอกซเรย์ฟันนั้นก็มีปริมาณรังสีที่เท่ากับการได้รับรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
รศ.ทพ.สุนทรา กล่าวว่า ในการถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันที่จะทำกับผู้ป่วยนั้น ทันตแพทย์จะทำก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย และทันตแพทย์จะทำทุกวิถีทางที่จะให้ผู้ป่วยได้รับรังสีน้อยที่สุดขณะที่ได้ภาพเอกซเรย์ฟันที่ให้ข้อมูลได้เพียงพอ เช่น การตั้งค่ารังสีที่เหมาะสมกับผู้ป่วย การใส่ชุดป้องกันรังสี คือ เสื้อตะกั่วกันรังสี ปลอกคอตะกั่วป้องกันต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้ทันตแพทย์ยังคำนึงถึงผู้ถ่ายภาพรังสีและประชาชนทั่วไป โดยต้องถ่ายภาพรังสีในห้องหรือบริเวณที่มีการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญทางรังสีที่ป้องกันไม่ให้รังสีออกมาจากห้องหรือบริเวณที่ถ่ายภาพเอกซเรย์ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานสากล โดยห้องเอกซเรย์จะมีผนังคอนกรีตหรือผนังไม้บุตะกั่วที่มีความหนาตามมาตราฐาน
“จากผลการวัดปริมาณรังสีจากเครื่องเอกซเรย์ฟันที่ออกมา พบว่า การเอกซเรย์ในปาก ผู้ป่วยจะได้รับรังสี 0.001 mSv ขณะที่การเอกซเรย์นอกปาก ได้รับรังสี 0.024 mSv ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเอกซเรย์อวัยวะร่างกายในส่วนอื่นๆ”รศ.ทพ.สุนทรา กล่าว