ขยันขยับ เลิกเนือยนิ่ง ลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ขยันขยับ เลิกเนือยนิ่ง ลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

Advertisement

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพคนวัยทำงาน แนะขยับตัวให้บ่อยครั้ง มีกิจกรรมทางกายระดับกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ระดับหนักอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วยการลุกจากเก้าอี้ทุก 1 ชั่วโมง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมตลอดทั้งวัน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี ในทางตรงข้าม การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือการนั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2559 พบว่า คนไทยนอนหลับเฉลี่ยคืนละ 8 ชั่วโมง ในขณะที่ตื่น มีกิจกรรมทางกาย เพียง 2 ชั่วโมง ที่เหลือเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่งถึง 13 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า วัยทำงานอายุ 18-59 ปี เป็นวัยที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และเป็นหลักของครอบครัว จึงควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น ขัดพื้น ล้างรถ ทำสวน เดินเร็ว เดินขึ้นบันได วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น หรือกิจกรรมทางกายระดับหนัก อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น กระโดดเชือก วิ่งเร็ว เล่นกีฬา อาทิ ฟุตบอล บาสเก็ตบอลเทนนิส หรือว่ายน้ำ เป็นต้น โดยสามารถผสมผสานระหว่างระดับหนักและปานกลางได้ และแบ่งสะสมเป็นช่วงอย่างน้อยครั้งละ 10 นาที

“ทั้งนี้ การมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรงนั้น นอกจากการมีกิจกรรมทางกายแล้ว จะต้องมีกิจกรรมพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เน้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ขา สะโพก หลัง ท้อง หน้าอก ไหล่ ต้นแขน ทำซ้ำ 8-12 ครั้งในแต่ละกล้ามเนื้อ ทำซ้ำ 2-3รอบ และกิจกรรมเพิ่มความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เช่น ยืดเหยียด โยคะ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความพร้อมสำหรับการทำงานในแต่ละวันและลดอาการบาดเจ็บจากท่าทางการทำงานในแต่ละอาชีพด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด