“ภิกษุณี”แห่งเถรวาทไทยเทียนแห่งธรรมกำลังดับมอดหรือรอวันโชติช่วง?

ทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของ “ภิกษุณี”องค์แรกของโลก จากสมัยพุทธกาลสู่ ภิกษุณีในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน และมองก้าวข้ามไปถึงอนาคตกับคำถาม “แนวคิดการมีภิกษุณี” ที่ยังคงไม่มีข้อสรุป ..ระหว่าง “เท่าเทียมทางธรรม” และ “ธรรมวินัยและธรรมประเพณี”

Advertisement

        กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งกระแส สำหรับการบวชของดาราสาวชื่อดัง “กิ๊ก มยุริญ ผ่องผุดพันธุ์” ที่ประเทศพม่า ก่อนวันอาสาฬหบูชา (27 ก.ค.61) ที่ผ่านมา และชาวโซเชียลร่วมอนุโมทนาบุญสำหรับการบวชในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก พร้อมๆ ด้วยข้อถกเถียงที่ตามมา หลังมีการระบุถึงการบวชในครั้งนี้ ที่เป็นการ “อุปสมบท” สู่ความเป็น “ภิกษุณี” ซึ่งอาจเป็นการจุดประกายของ “ภิกษุณี” ของ “หญิงไทย” ที่หลายต่อหลายครั้งเคยมีการหยิบยกเอาประเด็นอันมีความละเอียดอ่อนนี้ มาถกเถียงกันในเชิงวิชาการกันมาบ้างแล้ว

ดาราสาวชาวไทย “มยุริญ ผ่องผุดพันธ์” หรือ “กิ๊ก” ที่โซเชียลระบุว่าเป็นการอุปสมบทเป็น “ภิกษุณี”ในประเทศพม่า

“ภิกษุณี” หรือ ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Buddhist nun” มีเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันในความเป็น “พุทธต่างนิกาย” ที่มีมุมมองเกี่ยวกับ “ภิกษุณี” ไปในหลากหลายแง่มุม โดยมีเรื่องของ “พระธรรมวินัย” และ “ความเคร่งครัด” ที่แตกต่างกันออกไป เป็นปัจจัยหนึ่งของการ “มี” หรือ “ไม่มี” สำหรับ “ภิกษุณี” และ หลายความเห็นมองถึงความเป็นความเชื่อแบบนิกาย “หินยาน” และ “มหายาน” เป็นเหตุผลแต่หลายมุมมองก็มองถึง “พุทธประวัติ” หรือ ย้อนหลังกลับไปในสมัยพุทธกาลที่เคยมี “ภิกษุณี”

“ภิกษุณี” หรือ ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “Buddhist nun” ภาพนี้เป็นภาพในประเทศพม่า ที่ถูกใช้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ตรงกับคำว่า” ภิกษุณี”

ตามประวัติอันยาวนานของการมี “ภิกษุณี” มาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งค้นหาได้จาก “วิกิพีเดีย” และมีรายละเอียดมากมาย แต่ระบุได้โดยสังเขปถึง “ภิกษุณี” องค์แรกของโลก คือ “พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี” (น้าของพระพุทธเจ้า) บวชโดยพระบรมพุทธานุญาตโดยพระพุทธเจ้า และด้วยวิธีรับคุรุธรรม 8 ประการ ในภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวิธีการอุปสมบทภิกษุณีให้มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น จนศีลของพระภิกษุณีมีมากกว่าพระภิกษุ โดยพระภิกษุณีมีศีล 311 ข้อ ในขณะที่พระภิกษุมีศีลเพียง 227 ข้อเท่านั้น แต่มีการให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า เนื่องจากในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมาก่อน และการตั้งภิกษุณีสงฆ์ควบคู่กับภิกษุสงฆ์อาจเกิดข้อครหาที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการประพฤติพรหมจรรย์และพระพุทธศาสนาได้ หากได้บุคคลที่ไม่มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นนักบวช

ภิกษุณีในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยแล้ว แม้จะไม่ปรากฏของการตั้งวงศ์ภิกษุณีในนิกายแบบเถรวาท แต่เมื่อค้นกลับไปกลับพบข้อมูล ว่ามีประวัติการบวชภิกษุณีมาแล้ว เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 7 หรือราวปี พ.ศ. 2471 จาก BBC THAI ระบุว่า “เป็นการบวชภิกษุณี ที่เป็น ลูกสาวของ นายนรินทร์ ภาษิต คือ น.ส.สาระ วัย 18 ปี และ ด.ญ.จงดี วัย 13 ปี ออกบวชเป็นภิกษุณีและสามเณรี  โดยอ้างว่าเพื่อสืบทอดพระศาสนาให้ครบด้วยพุทธบริษัท 4 และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ถือศีลปฎิบัติอย่างจริงจัง แต่การบวชยังเป็นปริศนาว่ามีความถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ เนื่องจากไม่มีผู้เกี่ยวข้องคนใดยินยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงกรณีนี้

เมื่อการบวชภิกษุณีกลายเป็นข่าวโด่งดังจากการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ ในปีเดียวกัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 ก็มีคำสั่งห้ามมิให้มีการบวชภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี โดยให้เหตุผลว่า “ภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว” และนำมาสู่การจับกุมหญิงสาวทั้งสองในเวลาต่อมา แต่ความคิดที่ท้าทายของนายนรินทร์ ก็เป็นหมุดหมายให้พุทธบริษัท 4 ซึ่งประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีการพูดถึงในสังคมไทย”

และอีกครั้งของการรื้อฟื้นภิกษุณีในไทยมีขึ้นในปี พ.ศ. 2499 เมื่อ นางวรมัย กบิลสิงห์ ซึ่งเป็นได้รับศีล 8 แล้วครองผ้าสีดอกบวบ จากรองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ก่อนจะเดินทางไปอุปสมบทที่ประเทศไต้หวันกับภิกษุณีสายมหายาน ทั้งนี้ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ได้สร้าง “วัตรทรงธรรมกัลยานี” เป็น “วัด” สำหรับพระผู้หญิงขึ้นเป็นแห่งแรกในไทย ปูทางให้กับการบวชภิกษุณีของบุตรสาวในเวลาต่อมา แต่ไม่สามารถเรียกว่า “วัด” ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่อนุญาต ข้อมูลจาก BBC THAI ก็ระบุในส่วนนี้ไว้เช่นเดียวกัน

ส่วนในปัจจุบัน BBC THAI ได้เคยเปิดเผยเรื่องราวของ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ อดีตนักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ซึ่งเป็นบุตรีของ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ได้เดินทางไปอุปสมบทที่ประเทศศรีลังกาเมื่อปี 2546 หลังจากที่ผ่านการบวชสามเณรี เป็นเวลาครบ 2 ปี กลายเป็น ภิกษุณีธัมมนันทา หรือ “หลวงแม่” เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม จ.นครปฐม และเป็นภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกของประเทศไทย

ภิกษุณีธัมมนันทา หรือ “หลวงแม่” (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาในอดีต) เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม จ.นครปฐม

เรื่องราวของ “ภิกษุณี” ในประเทศไทย เคยเป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมาแล้วหลายปี แต่ก็เงียบหายไปพร้อมๆ กับ “ความไม่เป็นที่ยอมรับ” แต่อาจถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อ มีข่าว “ดาราสาวชื่อดังบวชเป็นภิกษุณี” ที่ประเทศพม่า และการบวชในต่างแดนหรือต่างนิกาย และก็อาจเป็นอีกทางออกสำคัญที่น่าสนใจสำหรับการสร้าง “วงศ์ภิกษุณีสงฆ์” สำหรับประเทศไทย ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการลบล้างข้อถกเถียงที่ว่า การบวชภิกษุณีสายเถรวาทซึ่งสืบวงศ์มาแต่สมัยพุทธกาลต้องด้วยการบวชที่ถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาทต้องบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ พูดให้ง่ายคือ

ภิกษุณีจากนิกายมหายานในต่างประเทศ

การบวชเป็นภิกษุณีที่ถูกต้องพร้อมด้วยทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณี ซึ่งเป็นข้อวินัยที่ถูกหยิบยกมาถึงการ ขาดวงศ์ของภิกษุณี แต่ก็กลายเป็นข้อถกเถียงใหม่ กับ “ภิกษุณี”ที่ไปบวชในต่างประเทศต่างนิกาย ว่าจะครบองค์ประกอบแห่งการอุปสมบทภิกษุณีตามระเบียบปฏิบัติ และตามพระธรรมวินัยได้หรือไม่? และกำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการจุดประกายการมี “ภิกษุณี” ที่ถูกต้องในสายเถรวาท และโดยเฉพาะในประเทศไทย  เช่นเดียวกับ “ภิกษุณี” ในหลายประเทศ ของฝ่ายมหายาน (บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว) ใน ประเทศจีน เกาหลีใต้  ญี่ปุ่น รวมถึง ศรีลังกา ที่เป็นพุทธนิกายเถรวาทเช่นเดียวกับในประเทศไทย

แต่การจะมี “ภิกษุณี” ที่ถูกต้องในสายเถรวาท และโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น มีการต่อสู้กันทางความคิด และในเชิงวิชาการกันมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบัน ก็ยังไม่มีข้อสรุป …. ทำให้ “ภิกษุณี” ในประเทศไทย ยังมีความคลุมเครือ ยังกลายเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจสำหรับชาวพุทธ ที่ฝ่ายหนึ่งมองถึง “เท่าเทียมทางธรรม” และ อีกฝ่ายหนึ่งมองถึง “ธรรมวินัยปฏิบัติ” ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อความประพฤติ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย  ที่สังคมพึ่งอยากหาคำตอบในเรื่องนี้ และรับข้อมูลไปใช้วิจารณญาณในการพิจารณาถึงเหตุและผลต่อไป …

 

กองบรรณาธิการสำนักข่าว SBN เรียบเรียง

ที่มาข้อมูล BBCTHAI  https://www.bbc.com/thai   เครดิตภาพ เพจภิกษุณี Bhikkhuni https://www.facebook.com/pg/Bhikkhuni และภาพจากเว็ปไซต์อื่นๆ ในต่างประเทศ